ก้าวสู่การเป็นโปรแกรมเมอร์เงินเดือนหลักแสน
"โปรแกรมเมอร์เป็นตำแหน่งที่ต่ำที่สุดในสายงานไอที"
เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดแบบนี้ นี่เป็นความเชื่อที่ทำให้หลายต่อหลายคนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงหรือย้ายตัวเองให้พ้นจากงานเขียนโปรแกรม โดยเฉพาะคนที่มีความเชื่อตามค่านิยมในสังคมบ้านเราที่ให้คุณค่าของงานตำแหน่งนี้ต่ำเหลือเกิน ผมเองก็เคยเป็นหนึ่งคนที่เคยเชื่อแบบนั้น ผมใชัเวลา 10 ปีแรกของการทำงานเพื่อผลักดันตัวเองขึ้นมาจากโปรแกรมเมอร์ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีม และในทีสุดก็ได้ขึ้นมาเป็นผู้จัดการโครงการ (Project Manager) ฟังดูเหมือนนั่นเป็นเส้นทางในฝันของใครหลายๆคน แต่สิ่งที่น่าเศร้าใจในการเติบโตของตำแหน่งการงาน ผมกลับทิ้งทักษะการเขียนโปรแกรมที่ผมเคยทำมันได้อย่างดีมากไประหว่างทาง
จนในวันหนึ่งเมื่อผมรู้สึกตัวว่าตัวเองกำลังหมดไฟและนึกไม่ออกว่าต่อจากนี้ที่ที่ผมต้องการไปต่อคือที่ใดกัน ในขณะเดียวกันการกำเนิดของสมาร์ทโฟนทำให้การใช้งานอินเตอร์เน็ตเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เทคโนโลยีใหม่ๆในการพัฒนาโปรแกรมบนเว็บและสมาร์ทโฟนเกิดขึ้นอย่างมากมาย ผมเริ่มมองเห็นแสงสว่างในชีวิตการทำงานขึ้นมาอีกครั้ง จึงตัดสินใจกลับมาเขียนโปรแกรมหลังจากห่างหายไปหลายปีจึงได้พบว่าโลกแห่งการพัฒนาโปรแกรมนั้นตั้งอยู่บนถนนแห่งการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด แม้หนทางในทีแรกจะตะกุกตะกักและค่าตอบแทนที่ได้ก็น้อยกว่าครั้งที่เคยอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการ แต่ในปัจจุบันผมสามารถทำเงินได้มากกว่าเดิมเกือบเท่าตัวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมแบบเทียบกันไม่ได้เลย นอกจากนั้นผมยังมองเห็นหนทางที่ตัวเองจะทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้อีกมากมายด้วย "งานเขียนโปรแกรม" นี่เอง
ผมได้รวบรวมวิธีการที่ผมใช้ในอดีต และหวังว่าจะช่วยให้เพื่อนๆ ร่วมอาชีพที่ต้องการที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้สามารถก้าวขึ้นมารับค่าตัวที่คู่ควรกับทักษะความสามารถของคุณกันดังนี้ครับ
---------------------------------
เริ่มที่ทัศนคติ
ถ้าคุณยังไม่เชื่อว่าการเลี้ยงชีพด้วยการเขียนโปรแกรมนี้สามารถทำเงินให้คุณได้ถึงหลักแสน (หรือแม้กระทั่งหลักล้าน) คุณควรเริ่มต้นที่จะเชื่อ มหาเศรษฐียุคปัจจุบันหลายคนสร้างตัวมาจากการเขียนโปรแกรม และสิ่งที่ทำให้คนเหล่านั้นสร้างฐานะจนร่ำรวยหรือแม้กระทั่งเปลี่ยนโลกของเราไปตลอดกาล ไม่ใช่เพราะเขาฉลาดกว่าคุณหรือผม แต่เป็นเพราะพวกเขามีความรักและเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำมากกว่าคนทั่วไป ผมเคยมีโอกาสได้คุยกับ CEO ของบริษัทหนึ่งที่ผมเคยทำงานในอดีต เขาบอกผมว่า “งานของเรา (สร้างซอฟท์แวร์) เป็นงานที่วิเศษที่สุดในโลก มันจะมีซักกี่อาชีพที่สามารถสร้างสิ่งที่เปลี่ยนโลกได้ โดยใช้แค่สมองและเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น และนั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากตื่นขึ้นมาทำทุกวัน” คำพูดนั้นกลายเป็นความเชื่อที่ผมยึดถือมาตลอด การเริ่มทำอะไรซักอย่าง ถ้าคุณเชื่ออย่างสนิทใจว่ามันเป็นได้และยิ่งถ้าคุณศรัทธาในสิ่งที่ทำจริงๆ คุณจะพบว่าสิ่งต่างๆจะเป็นใจให้คุณไปถึงจุดหมายได้อย่างไม่น่าเชื่อ
---------------------------------
สำรวจตลาด
ถ้าวันนี้คุณเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่แล้วแต่ยังรู้สึกไม่พอใจกับค่าแรงที่ได้ ปัจจัยอย่างหนึ่งที่เป็นไปได้ในการทำให้คุณได้เงินน้อยกว่าที่ควร คือ เทคโนโลยีหรือภาษาที่คุณใช้ทำมาหากินอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่เป็นที่ต้องการของตลาดมากเท่าไรนักในปัจจุบัน วิธีที่จะทำให้รู้ว่าภาษาหรือเทคโนโลยีไหนที่ตลาดกำลังต้องการ คือ การเช็คผลสำรวจต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากมายในอินเตอร์เน็ต อีกวิธีคือการเช็คตามเว็บไซต์สมัครใหญ่ๆ เช่น JobsDB ในเว็บไซต์เหล่านี้คุณสามารถกรองข้อมูลประกาศรับสมัครงานได้ตามเงื่อนไขที่เรากำหนด ลองสำรวจดูครับว่าในระดับเงินเดือนที่คุณอยากได้นั้น ต้องการทักษะทางด้านเทคโนโลยีหรือภาษาใดบ้าง จากนั้นคุณควรจะเริ่มโฟกัสและเร่งพัฒนาทักษะที่คุณยังขาดอยู่
---------------------------------
ใช้สื่อให้เป็น
ทุกวันนี้บริษัทใหญ่หลายๆแห่งให้ความสำคัญกับข้อมูลออนไลน์ของผู้สมัครงานมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลของคุณในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น facebook instagram ฯลฯ อาจจะถูกตรวจสอบโดยฝ่ายบุคคลของบริษัทที่คุณสมัครงาน ดังนั้นทุกครั้งที่คุณต้องการสมัครงาน ลองสำรวจข้อมูลออนไลน์ของคุณว่ามีข้อมูลในด้านลบที่อาจจะทำให้คุณพลาดงานดีๆ หรือเปล่า นอกจากนี้คุณควรใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะสำหรับคนทำงาน เช่น LinkedIn เพื่อรวบรวมประวัติการทำงาน ผลงานเด่นๆ และทักษะสำคัญที่คุณต้องการนำเสนอ หรือถ้าคุณมีผลงานการเขียนโปรแกรมที่แบ่งปันให้ผู้อื่นอยู่บน GitHub ก็อย่าลืมใส่ลงไปใน portfolio ด้วย เพราะนั่นจะทำให้คุณดูโดดเด่นกว่าผู้สมัครงานทั่วๆไปมากเลยทีเดียว นอกจากนั้น การมีข้อมูลออนไลน์ของคุณในที่ที่ถูกต้องอย่าง LinkedIn หรือ GitHub ยังอาจจะช่วยสร้างเครือข่ายให้คุณได้เชื่อมต่อกับคนที่อยู่ในวงการเดียวกันได้ทั่วโลกอีกด้วย
---------------------------------
ภาษาต้องได้
ต้องยอมรับกันอยู่อย่างหนึ่ง ว่า บริษัทและองค์กรต่างๆในประเทศไทยส่วนมากยังให้คุณค่าของนักพัฒนาโปรแกรมต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นการพัฒนาตัวเองให้สามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะเพิ่มโอกาสในการทำงานกับบริษัทข้ามชาติ ซึ่งทุกวันนี้มีบริษัทข้ามชาติจำนวนมากที่เข้ามาเปิดในบ้านเรา เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือ ค่าแรงของโปรแกรมเมอร์ในบ้านเรายังถูกกว่าในประเทศอื่นๆมาก แต่นั่นคือโอกาสที่ยอดเยี่ยม เพราะถึงค่าตัวเราจะถูกกว่าอาชีพเดียวกันในต่างประเทศ แต่บริษัทข้ามชาติหลายๆแห่งก็ยินดีจะจ่ายค่าตัวคุณสูงกว่าราคาตลาด และถ้าคุณสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าคุณมีฝีมือทัดเทียมกับโปรแกรมเมอร์ค่าตัวแพงๆในต่างประเทศ โอกาสที่คุณจะเรียกค่าตัวที่คู่ควรกับคุณก็เป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินฝัน
เทคนิคการเสริมทักษะด้านภาษาเล็กๆอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ ให้คุณอ่านหนังสือ บทความ หรือดูคลิปใน Youtube ที่เป็นภาษาต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรือการเขียนโปรแกรมที่คุณสนใจ ซึ่งมีเยอะแยะมากมายในอินเตอร์เน็ต ที่สำคัญคือข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่ “ฟรี” จงตักตวงความฟรีนี้ให้มากที่สุดและทำเป็นประจำให้เป็นเรื่องปกติ
---------------------------------
อยู่ให้ถูกที่
หลายคนมีทุกอย่างที่ผมแนะนำมาข้างต้นครบอยู่แล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่ากับความสามารถเสียที นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าที่ที่คุณอยู่นั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานของคุณมากเท่าที่ควร จากประสบการณ์ของผม ที่ทำงานที่มักจะให้ผลตอบแทนโปรแกรมเมอร์ค่อนข้างสูงมีอยู่สองแบบด้วยกัน แบบแรกคือบริษัทที่ประกอบกิจการพัฒนาโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์โดยตรง บริษัทเหล่านี้จะให้คุณค่ากับบุคคลากรในตำแหน่งพัฒนาโปรแกรมสูงมาก ยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่พัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อให้บริการหรือขายให้กับคนเป็นจำนวนมากยิ่งให้ค่าตอบแทนที่สูงมากขึ้นไปอีก ส่วนอีกรูปแบบคือบริษัทที่ไม่ได้พัฒนาซอฟท์แวร์โดยตรงแต่การดำเนินธุรกิจขององค์กรนั้นขึ้นอยู่กับระบบไอทีเป็นส่วนสำคัญ ยิ่งถ้าบริษัทขึ้นอยู่กับระบบไอทีหรือซอฟท์แวร์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่องค์กรจะจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคคลากรที่ดูแลระบบเหล่านั้นมากขึ้นเช่นกัน
การหาที่ทำงานที่ใช่สำหรับคุณ ก็เหมือนกับการตกปลา ต่อให้คุณเป็นนักตกปลาที่เก่งกาจมากแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์ถ้าคุณยังนั่งตกปลาอยู่ในบ่อที่ไม่มีปลาหรือมีแต่ปลาตัวเล็กๆ ถามตัวเองนะครับว่าได้เวลาที่จะออกไปหาปลาตัวใหญ่ขึ้นหรือยัง
---------------------------------
พัฒนาตัวเองในด้านอื่นด้วย
มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก บิล เกตส์ และสตีฟ จอบส์ ไม่ได้ร่ำรวยและมีชื่อเสียงเพียงเพราะพวกเขามีทักษะทางไอทีที่เยี่ยมยอดเท่านั้น พวกเขายังพัฒนาทักษะอื่นๆขึ้นมาประกอบ ที่ทำให้เขาแตกต่างจากเนิร์ดทั่วไป พวกเราชาวโปรแกรมเมอร์ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนก็เช่นกัน การที่คุณเป็นนักเขียนโปรแกรมที่เก่งฉกาจ นั่นก็อาจจะทำให้คุณประสบความสำเร็จได้ระดับหนึ่ง แต่การที่คุณมีทักษะในด้านอื่นๆที่เป็นประโยชน์ เช่น การตลาด การนำเสนองาน การบริหารคน
ฯลฯ จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญมากในการฉุดให้คุณก้าวออกมาโดดเด่นมากกว่าคนอื่นๆ และนั่นหมายถึงอำนาจในการต่อรองเพื่อให้ได้ค่าตัวที่เหมาะสมกับคุณที่มากขึ้นไปอีกด้วย
---------------------------------
หวังว่าทิปที่ผมแบ่งปันข้างต้น จะช่วยให้เพื่อนร่วมอาชีพโปรแกรมเมอร์ทุกท่านได้เริ่มมองเห็นคุณค่าของงานที่พวกเราทำ และก้าวข้ามขีดกำจัดที่มีอยู่ของทุกคนไปรับสิ่งที่ควรค่าแก่ผลงานของพวกเรา และอย่าลืมรักษาสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวกันด้วยนะครับ
ขอบคุณบทความดีๆจากคุณ oat_happy_nerd