เอาไปข้อมูลยาวๆอ่านเองนะครับ
การบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษาสร้างกุศลทานอันยิ่งใหญ่ ด้วยการอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา การให้ หรือ การบริจาคย่อมทำให้เกิดความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ ผู้ให้มีความสุข มีความภาคภูมิใจในความเป็นผู้เสียสละ ผู้รับมีความสุข ที่ได้รับสิ่งจำเป็นที่สุดที่ตนเองยังขาดแคลน
การบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา ผู้บริจาคเป็นผู้เสียสละที่ยิ่งใหญ่ ยอมสละร่างกายของตนเอง ให้ผู้ที่ไม่เคยได้รู้จักมาก่อนได้ศึกษา โดยเพียงแต่มุ่งหวังว่าผู้ที่ศึกษาร่างของตนจะนำความรู้ที่ได้รับนั้นไปช่วยมวลมนุษย์ชาติต่อไป ผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาได้สร้างกุศลทานครั้งสุดท้ายของชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด โดยได้แต่หวังว่าผู้อยู่เบื้องหลังจะไม่ต้องทนทุกข์จากอาการเจ็บป่วย ตนเองมิได้หวังสิ่งตอบแทนใดใด นอกจากได้เป็นผู้"ให้"เท่านั้น
คุณประโยชน์ การอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา เป็นการสร้างประโยชน์ทั้งด้านวิชาการ ด้านสาธารณสุข ด้านจริยธรรม และการเสริมสร้างสังคมอันจะนำไปสู่พัฒนาการที่ดีต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะในการศึกษาทางการแพทย์บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากร่างกายของมนุษย์เพื่อเป็นแนวทางสำคัญในการรักษาผู้ป่วยต่อไปในอนาคต
การศึกษาจากร่างกายผู้อุทิศร่างกาย ใช้ประโยชน์หลายกรณี อาทิเช่น
1. เพื่อใช้ในการศึกษาของนิสิตแพทย์
2. เพื่อใช้ในการศึกษาของแพทย์เฉพาะทาง
3. เพื่อใช้ในการศึกษาของนักศึกษาพยาบาล
4. เพื่อใช้ในการศึกษาของนิสิตเทคนิคการแพทย์
5. เพื่อใช้ในการศึกษาของนักศึกษารังสีเทคนิค
6. เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยทางการแพทย์
7. เพื่อใช้ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์
วิธีการ ผู้มีความประสงค์อุทิศร่างกายสามารถยื่นความจำนงได้ 2 แบบ คือ ...
1. ยื่นความจำนงโดยตรงที่ ฝ่ายอุทิศร่างกาย แผนกเลขานุการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
โดยกรอกข้อความ ตามแบบฟอร์ม ทั้ง 3 ฉบับ เก็บไว้ที่ผู้อุทิศร่างกาย 1 ฉบับพร้อมทั้งใบประกาศของโรงพยาบาล 1 ฉบับ และให้เจ้าหน้าที่เก็บไว้ 2 ฉบับ เจ้าหน้าที่จะออกบัตรประจำตัวผู้อุทิศร่างกายให้ไว้เป็นหลักฐาน
2. ยื่นความจำนงทางไปรษณีย์ โดยกรอกข้อความในใบอุทิศร่างกายทั้ง 3 ฉบับ แล้วส่งมา
ทางไปรษณีย์ 2 ฉบับ เจ้าหน้าที่จะส่งบัตรประจำตัวผู้อุทิศร่างกายให้ภายหลัง
- เมื่อผู้อุทิศร่างกายถึงแก่กรรม ทายาทมีสิทธิ์คัดค้านไม่มอบศพให้กับโรงพยาบาลได้โดยต้องแจ้งการคัดค้านไม่มอบศพกับโรงพยาบาลฯภายใน 24 ชั่วโมง
- เมื่อผู้อุทิศร่างกายถึงแก่กรรม และทายาทผู้รับมรดกยินยอมพร้อมใจกันจะมอบศพให้โรงพยาบาลฯ ขอให้ติดต่อโรงพยาบาลฯเพื่อจัดเจ้าหน้าที่ไปรับศพ โดยเจ้าหน้าที่จะให้กรอกใบสำคัญยินยอมมอบศพให้โรงพยาบาลเพื่อการศึกษาไว้เป็นหลักฐาน
โดยติดต่อแจ้งการรับศพได้ที่ 1. ในเวลาราชการติดต่อที่ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์
02-256 4281 หรือ 02-252 7028 หรือ 02-252 8181-9 ต่อ 3247
2. นอกเวลาราชการติดต่อที่ ตึกห้องพักศพ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการรับศพ หมายเลขโทรศัพท์
02-256 4317
โรงพยาบาลจะสามารถรับร่างของผู้อุทิศร่างกายได้ก็ต่อเมื่อ มีใบมรณบัตรซึ่งออกโดย นายทะเบียนท้องถิ่นที่ผู้อุทิศร่างกายถึงแก่กรรมแล้วเท่านั้น
โรงพยาบาลจะจัดเจ้าหน้าที่ไปรับร่างผู้อุทิศร่างกายเฉพาะที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
เมื่อโรงพยาบาลรับร่างผู้อุทิศร่างกายมาแล้ว ไม่สามารถอนุญาตให้ญาตินำกลับไปบำเพ็ญกุศล
ก่อน เพราะจะทำให้ไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะสมสำหรับการศึกษา
เมื่อเจ้าหน้าที่ไปรับร่างผู้อุทิศร่างกาย ทายาทควรให้ที่อยู่ที่ติดต่อได้สะดวกที่สุดไว้กับเจ้าหน้าที่
เพื่อให้สามารถติดต่อได้เมื่อนิสิตศึกษาร่างผู้อุทิศร่างกายเสร็จเรียบร้อยแล้ว และหากมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ต้องแจ้งให้ทราบ
ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ จะจัดให้มีการศึกษาร่างของผู้อุทิศร่างกายในกรณีต่างๆต่อไปนี้ ตามความ
เหมาะสม
1. เพื่อการศึกษาของนิสิตแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน
2. เพื่อการฝึกอบรมหัตถการต่างๆ และงานวิจัยทางการแพทย์
เมื่อฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศึกษาร่างผู้อุทิศฯศึกษาเรียบร้อยแล้ว
จะมีคณะกรรมการดำเนินการจัดงานฌาปนกิจ และขอพระราชทานเพลิงศพ (เป็นกรณีพิเศษ)
คุณสมบัติของผู้บริจาค ผู้มีความประสงค์อุทิศร่างกายต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป กรณีที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษร
โรงพยาบาลจะไม่รับศพผู้อุทิศร่างกายในกรณีดังนี้...
- ถึงแก่กรรมเกิน 24 ชั่วโมง ยกเว้นได้เก็บไว้ในห้องเย็นของโรงพยาบาล
- ผู้อุทิศร่างกายที่ได้รับการผ่าตัด หรือมีรอยเสียหายจากอุบัติเหตุ บริเวณศีรษะและสมอง
- ผู้อุทิศร่างกายที่ถึงแก่กรรมจากสาเหตุจากโรคมะเร็งบริเวณศีรษะและสมอง หรือติดเชื้อ โรคร้ายแรงเช่น เอดส์ ไวรัสลงตับ และวัณโรค
- ผู้อุทิศร่างกายที่มีคดี เกี่ยวข้องกับคดี หรือมีการผ่าพิสูจน์ ยกเว้นการผ่าพิสูจน์บริเวณช่องท้องที่แพทย์นำไปใช้ในทางการศึกษาทางการแพทย์เท่านั้น
- ผู้อุทิศฯที่ผ่านกระบวนการเก็บรักษาด้วยน้ำยาแล้ว
ในกรณีที่รับร่างผู้อุทิศฯมาแล้ว มีการตรวจพบว่าอยู่ในกรณีดังกล่าวข้างต้น โรงพยาบาลจะติดต่อญาติให้นำกลับไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีต่อไป
สถานที่ติดต่อ :ฝ่ายเลขานุการ ตึกอำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เขตปทุมวัน กทม. 10330 ในวัน เวลาราชการ
หลักฐานที่ต้องเตรียมมามีดังนี้ 1. รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว จำนวน 3 รูป
2. สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาบัตรข้าราชการ
3. สำเนาทะเบียนบ้าน
ข้อมูลจาก
http://www.redcross.or.th/donation/self_donation.php4 
ขออนุโมทนา ...