ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

ThaiSEOBoard.comอื่นๆCafeพิสูจน์ชัด โรงไฟฟ้าถ่านหินไร้มลพิษ
หน้า: [1]   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: พิสูจน์ชัด โรงไฟฟ้าถ่านหินไร้มลพิษ  (อ่าน 332 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
sopon2020pornchokchai@gma
Newbie
*

พลังน้ำใจ: 0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 0



ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 14 มกราคม 2021, 11:29:50 »

 AREA แถลง ฉบับที่ 34/2564: วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2564

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th ) ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไร้มลพิษ เป็นพลังงานราคาถูกและยั่งยืน ควรสร้างเพื่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

                                                                                         
13    มกราคม    2563

เรื่อง      ขอเสนอความเห็นต่อการศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เรียน     ประธานคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์
           สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้
 

                     ตามที่คณะกรรรมการฯ ได้ว่าจ้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ทำการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้  กระผมในฐานะกรรมการคนหนึ่งได้ไปสังเกตการณ์การจัดประชุมของทางสถาบันฯ เป็นระยะๆ มีความเห็นว่าการศึกษานี้ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้เลย เช่น การจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 3 รอบ ไม่สามารถได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ต่างฝ่ายต่างก็ตั้งอยู่บนจุดยืนเดิม ที่สำคัญ การศึกษานี้ไม่ได้พิสูจน์ให้คำตอบที่ชัดเจน เช่น ฝ่ายค้านก็ยังอ้างอยู่ตลอดเวลาว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีมลพิษ ทั้งที่เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินในอดีตและเป็นแค่คำกล่าวหาของฝ่ายต่อต้าน ไม่ใช่เทคโนโลยีถ่านหินในปัจจุบัน  กระผมจึงได้ทำการศึกษาจากข้อมูลที่เป็น Hard Facts มานำเสนอเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของคณะกรรมการ ดังนี้:
 

เกี่ยวกับการเจ็บป่วย
            มักมีคำอ้างที่ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อมลพิษและทำให้สุขภาพของประชาชนเสียหาย กระผมจึงไปศึกษากรณีจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมหนักและโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อพิจารณาถึงมลพิษ โดยดูจากสถิติการเจ็บป่วยต่างๆ โดยตรวจสอบข้อมูลการเสียชีวิตจากโรคที่อาจเกี่ยวข้องกับมลพิษข้อมูล ซึ่งเป็นจากกระทรวงสาธารณสุขในท้องที่จังหวัดระยอง เทียบกับทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร ซึ่งพบว่าอัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คนนั้น มีน้อยมากในจังหวัดระยอง โดยพิจารณาจากตารางต่อไปนี้

 
            1. ในกรณี โลหิตเป็นพิษ (A40-A41) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 38.6 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศสูงถึง 135.2 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 47.6 คน แสดงว่าชาวระยองมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าอย่างชัดเจน

            2. ในกรณี เนื้องอก (C00-D48) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 99.3 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 123.3 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงถึง 185.6 คน แสดงว่าระยองคงไม่มีมลพิษที่ทำให้คนเสียชีวิตเท่าในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ

            3. ในกรณี โรคเลือดและอวัยวะสร้างเลือด และความผิดปกติเกี่ยวกับกลไกของภูมิคุ้มกัน (D50-D89) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 1.1 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 1.7 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 1.9 คน แสดงว่าระยองก็คงไม่มีมลพิษที่ทำให้คนเสียชีวิตเท่าในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ

            4. ในกรณี โรคทางจิตเวชและความผิดปกติของพฤติกรรม (F01-F99) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 1.3 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศสูงมากถึง 2.3 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 0.8 คน แสดงว่าชาวระยอง แม้มีความตายจากโรคจิตเวช แต่ก็ยังเพียง 57% ของทั่วประเทศ

            5. ในกรณี ความดันโลหิตสูง (I10-I15) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 7.0 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 13.1 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 5.9 คน แสดงว่าชาวระยอง แม้มีความตายจากโรคความดันโลหิตสูง แต่ก็ยังเพียง 53% ของทั่วประเทศ

            6. ในกรณี โรคของทางเดินระบบหายใจ (J00-J98) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 62.7 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 63.8 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 76.0 คน แสดงว่าปัญหาระบบทางเดินหายในในระยองก็พอๆ กับทั่วประเทศ แต่ก็ยังน้อยกว่าในกรุงเทพมหานคร

            7. ในกรณี โรคของระบบกล้ามเนื้อกระดูกและเนื้อเยื่อประสาน (M00-M99) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 2.7 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 4.9 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 3.4 คน แสดงว่าระยองก็คงไม่มีมลพิษที่ทำให้คนเสียชีวิตเท่าในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ

            เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของผู้ป่วยในโรคสำคัญต่างๆ ที่อาจเชื่อมโยงกับมลพิษในจังหวัดระยองแยกตามอำเภอ จะเห็นได้ว่าในเขตอำเภอเมือง ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนัก นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ นั้น แม้มีผู้ป่วยโรคติดเชื้อและเนื้องอกในอัตราที่มากกว่าอำเภออื่น แต่สำหรับโรคอื่นๆ คือ โรคเลือด ภาวะแปรปรวนทางจิต โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหายใจ และโรคระบบกล้ามเนื้อ กลับน้อยกว่าอำเภออื่นที่ตั้งอยู่ในเขตชนบทห่างไกลจากนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าถ่านหิน  ดังนั้นจึงไม่อาจสรุปได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นสาเหตุของการป่วยต่างๆ  การมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่น่าจะก่อมลพิษอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยจึงควรวางใจที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคที่จำเป็นต่อไป

 

ที่อยู่อาศัยในพื้นที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสวนกระแส
            ตามที่มีบางพวกกล่าวว่าระยอง-มาบตาพุดมีมลพิษทั้งจากโรงงานขนาดใหญ่และโรงไฟฟ้าถ่านหิน  ประจักษ์หลักฐานอย่างหนึ่งที่พึงพิจารณาก็คือจำนวนบ้านจัดสรร-อาคารชุดที่เกิดขึ้นมหาศาลในแต่ละปี โดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนบ้านจัดสรรและอาคารชุดในเขตเทศบาลนครระยอง เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง มีเกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนกระแสความเชื่อผิดๆ ที่ว่าบริเวณดังกล่าวมีมลพิษจนประชาชนไม่กล้าเข้าไปอยู่

            ข้อมูลเฉพาะปี 2559-2563 หรือ 5 ปีล่าสุด มีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ถึง 33,891 หน่วย รวมมูลค่าถึง 74,095 ล้านบาท หรือราคาเฉลี่ยหน่วยละ 2.186 ล้านบาท  การเปิดตัวของที่อยู่อาศัยในแต่ละปีนั้น ขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับในปี 2563 คาดว่าจะมีการเปิดตัวทั้งหมด 7,445 หน่วย รวมมูลค่า 15,350 ล้านบาท  อาจกล่าวได้ว่าโดยเฉลี่ยแต่ละปี มีโครงการที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ปีละ 6,778 หน่วย รวมมูลค่าเฉลี่ย 14,819 ล้านบาท  ถ้ามีมลพิษจริง ก็คงไม่มีการเปิดตัวโครงการกันมากขนาดนี้ในแต่ละปี


 

            สำหรับในรายละเอียดพบว่ามีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่เฉพาะในช่วงปี 2559-2563 ถึง 417 โครงการ โดยกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นทาวน์เฮาส์ 16,574 หน่วย หรือ 49% ของอุปทานทั้งหมด  รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยว 9,486 หน่วย หรือ 28% นอกนั้นเป็นบ้านแฝด อาคารชุดและอาคารพาณิชย์ตามลำดับ  อย่างไรก็ตามในด้านมูลค่า บ้านเดี่ยวมีสัดส่วนสูงสุดถึง 39% รองลงมาเป็นทาวน์เฮาส์ 35% บ้านแฝด 14% อาคารชุดและอาคารพาณิชย์ตามลำดับ

            บ้านเดี่ยวที่นำเสนอขายในตลาดมีราคา 2-3 ล้านบาทเป็นสำคัญ  ส่วนบ้านแฝดมีราคาอยู่ที่ 2-3 ล้านบาทเป็นสำคัญเช่นกัน ส่วนทาวน์เฮาส์ กลุ่มใหญ่ที่สุดขายในราคา 1-2 ล้านบาทเป็นหลัก  และโครงการอาคารชุดมักขายห้องชุดในราคา 2-3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับในพื้นที่ระยอง-มาบตาพุดยังมีพื้นที่ว่างอยู่มากมาย ความต้องการห้องชุดเพื่อการอยู่อาศัยจึงมีจำกัด

            โดยสรุปแล้ว โครงการที่อยู่อาศัยภาคเอกชนนี้ ประชาชนผู้ซื้อบ้านในพื้นที่สมัครใจอยู่อาศัยในพื้นที่เหล่านี้เองโดยไม่มีการบังคับ  และไม่ใช่ผลการบังคับด้านเศรษฐกิจที่ต้องซื้อที่อยู่อาศัยในราคาถูกเพราะจำเป็นต้องทำงานใกล้ที่ทำงาน  แต่คงเป็นเพราะในบริเวณนี้ไม่ได้มีมลพิษมากมายดังที่ได้รับการเข้าใจผิดๆ ดังนั้น ที่อยู่อาศัยจึงเกิดเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลสวนทางกับความเชื่อดังกล่าว ระยองและมาบตาพุดไม่ได้มีมลพิษดังที่เชื่อ พิสูจน์ได้จากการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของบ้านจัดสรร-อาคารชุดในพื้นที่

จำนวนโรงแรมในเขตอำเภอเมืองระยองก็เพิ่มขึ้นมาก
            มีบางกลุ่มกล่าวว่าในจังหวัดระยองและมาบตาพุดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าถ่านหิน น่าจะมีมลพิษในระดับสูง  แต่ในความเป็นจริง ยังมีโรงแรมเกิดเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา  หักล้างความเชื่อดังกล่าว

            ทั้งนี้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2563 ดร.โสภณ ได้ไปสำรวจการเกิดขึ้นของโรงแรมต่างๆ ในเขตเทศบาลนครระยอง และเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ปรากฏว่าโรงแรมต่างๆ เกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ถ้าหากมีมลพิษจริง โอกาสที่จะเกิดโรงแรมใหม่ๆ คงมีน้อยมาก  นี่แสดงว่ามลพิษไม่มีจริงหรือมีน้อยเกินกว่าที่ประชาชนจะมีชีวิตอย่างปกติสุข

แผนที่ตั้งโรงแรมที่สำรวจในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

            ในการสำรวจเบื้องต้นที่ในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 พบโรงแรมตามพื้นที่ระยอง-มาบตาพุดทั้งหมด 29 แห่ง ปรากฏว่าเป็นโรงแรมที่เปิดในปี 2553 และก่อนหน้าจำนวน 13 แห่ง และมาถึงปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 29 แห่ง  หรืออีกนัยหนึ่งเพิ่มขึ้นจาก 100% เป็น 223% หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 8.4% นับว่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีเสียอีก การเพิ่มขึ้นของโรงแรมซึ่งส่วนหนึ่งใช้สำหรับนักท่องเที่ยว นักทัศนาจร ผู้ติดต่อ ตลอดจนบุคคลอื่น แสดงว่าในพื้นที่ระยอง-มาบตาพุดนี้ ไม่ได้มีมลพิษมากมายอย่างมีนัยสำคัญนัก  โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงไม่มีปัญหาสำหรับชุมชนแต่อย่างใด
 

ประชากรในพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น
            บางคนกลัวว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ในความเป็นจริง ประชากรตามบริเวณใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินกลับไม่ได้ลดลงตามอ้าง  สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีมลพิษหรือไม่ ก็ดูได้จากจำนวนประชากรในพื้นที่ในฐานะที่เป็นประจักษ์หลักฐาน หรือเป็น Hard Facts ที่ชัดเจนที่สุด  ถ้าประชากรเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลง ก็แสดงว่าไม่มีมลพิษ แต่ถ้าประชากรลดลง ก็อาจแสดงว่ามีปัญหาในพื้นที่เพราะประชาชนคงอยู่ไม่ได้เนื่องจากมลพิษนั่นเอง  เรามาดูการเปลี่ยนแปลงประชากรในพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่ง คือที่จังหวัดระยอง และที่เหมืองแม่เมาะ ลำปาง ดูว่าข้อมูลประชากรเป็นอย่างไรบ้าง

            1. ที่จังหวัดระยองมีโรงไฟฟ้าอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ บจก.เก็คโค-วัน โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี และโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี ตั้งอยู่ในเขตมาบตาพุตและอำเภอเมืองระยอง มีเขตการปกครองที่โรงไฟฟ้าเหล่านี้ตั้งอยู่ 2 แห่งคือ เทศบาลนครระยอง และเทศบาลเมืองมาบตาพุด

            2. ที่จังหวัดลำปางที่มีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ มีเทศบาลตำบลแม่เมาะตั้งอยู่ และยังมีพื้นที่ในตำบลอื่นในอำเภอแม่เมาะตั้งอยู่ด้วยเช่นกัน


            จากข้อมูลประชากรชี้ให้เห็นว่า ในกรณีจังหวัดระยองพบว่าในเขตเทศบาลเมืองระยอง มีประชากร ณ สิ้นปี 2552 อยู่ 59,262 คน แต่ ณ สิ้นปี 2562 มี 63,565 คน หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 0.7% โดยเฉลี่ย  ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นของประชากรทั่วประเทศที่ 0.47%  ยิ่งในกรณีเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดที่มีทั้งนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ ก็ปรากฏว่า อัตราเพิ่มของประชากรสูงถึง 3.49% ต่อปีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

            และหากรวมเทศบาลทั้งสองแห่งนี้คือเทศบาลนครระยอง และเทศบาลเมืองมาบตาพุดเข้าด้วยกันเพราะอยู่ติดกัน จะพบว่าจำนวนประชากรของทั้งสองเทศบาล เพิ่มจาก 109,447 คน ณ สิ้นปี 2552 เป็น 134,279 คน ณ สิ้นปี 2562 หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 2.07% ต่อปีโดยเฉลี่ย  ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งจังหวัดระยองที่มีอัตราเพิ่มที่ 1.84% ต่อปี  ประชากรไหล่บ่าเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่นี้ทั้งที่คนภายนอกเข้าใจผิดว่ามีมลพิษมากมาย

            ส่วนที่อำเภอแม่เมาะที่เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าแม่เมาะนั้น ปรากฏว่าจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจาก 23,303 คน ณ สิ้นปี 2552 เป็น 24,328 คน ณ สิ้นปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.43% ต่อปีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา  แสดงว่าโรงไฟฟ้าไม่ได้สร้างปัญหาให้กับชุมชนดังที่เข้าใจ  ในรายละเอียดของอำเภอแม่เมาะนั้นพบว่ามีเพียงตำบลจางเหนือที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากโรงไฟฟ้าที่สุดที่มีประชากรลดลงปีละ -0.03% หรือแทบจะไม่ลดเลย ทั้งนี้คงเป็นเพราะเป็นตำบลในถิ่นที่ทุรกันดารกว่าที่อื่น

            ส่วนที่ตัวเทศบาลตำบลแม่เมาะนั้น ประชากรลดลงปีละ -0.42%  แต่การนี้คงเป็นเพราะเป็นพื้นที่จัดสรรที่ดินขึ้นมาใหม่  โอกาสขยายตัวจึงจำกัด ประชากรจึงไปขยายตัวในตำบลอื่นแทน  และในพื้นที่โดยรอบ ประชากรลดลง โดยในจังหวัดลำปางโดยรวมลดลงปีละ -0.35% ซึ่งก็พอๆ กับที่เทศบาลตำบลแม่เมาะ  ยิ่งกว่านั้นในจังหวัดโดยรอบ คือ อุตรดิตถ์ แพร่ พะเยา ประชากรก็ลดลงปีละ -0.21% -0.45% และ -0.31% ตามลำดับ มีเพียงเชียงใหม่ที่มีประชากรเพิ่มขึ้นปีละ 0.86% และจังหวัดน่าน และเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ประชากรเพิ่มขึ้น  การสูญเสียจำนวนประชากรในจังหวัดเล็กๆ ให้กับจังหวัดหรือเมืองขนาดใหญ่ในภูมิภาคเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ จึงไม่อาจสรุปได้ว่ามลพิษจากโรงไฟฟ้า ทำให้ประชากรลดลง

            การที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น หรือไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในพื้นที่โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันเช่นนี้ จึงเป็นประจักษ์หลักฐานที่ชัดเจนว่า โรงไฟฟ้าไม่ได้ก่อให้เกิดมลพิษจนทำให้ประชาชนไม่สามารถอยู่ได้ หรือไม่ประสงค์ที่จะอยู่อย่างปกติสุขในพื้นที่ได้ เราจึงควรสร้างความมั่นให้กับประชาชนในความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า ยิ่งในกรณีโรงไฟฟ้ายุคใหม่ที่เน้นถ่านหินบิทูมินัสและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดักจับมลพิษ ประชาชนจึงยิ่งมีความมั่นใจได้มากขึ้น        โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงมีคุณต่อชาติและเป็นที่ต้อนรับของประชาชน


ประชามติของประชาชน
            จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์สานเสวนาของสถาบันฯ พบว่าผู้แทนของประชาชนในท้องถิ่นทั้งที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ต่างประสงค์ให้มีการทำประชามติ เพื่อให้เห็นว่าประชาชนในท้องถิ่นที่แท้ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน  และผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ทั้งสองยังมั่นใจว่าถ้าส่วนใหญ่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็จะยินดีน้อมรับตามประชามติโดยไม่ขัดขืน  การที่ประชาชนในท้องถิ่นที่อยู่ใกล้พื้นที่ก่อสร้างมีความมั่นใจถึงเพียงนี้ ก็แสดงว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ไม่น่าจะมีปัญหา และยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับท้องถิ่นอีกด้วย

            กระผมเองยังในฐานะกรรมการคนหนึ่งที่ได้ไปสังเกตการณ์สานเสวนาของสถาบัน ยังได้ออกค่าใช้จ่ายเองในการไปสังเกตการณ์และพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งส่วนมากก็เห็นสมควรให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินคล้ายกับที่ผู้นำชุมชนได้ยื่นข้อเสนอต่อสถาบันฯ  คณะกรรมการและสถาบันฯ พึงฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ไพล่ไปศึกษาแนวทางการผลิตไฟฟ้าอื่นๆ มาแทนที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน

 

                     กระผมขอเสนอว่าสถาบันฯ ควรทำประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ด้วยการดำเนินการดังนี้:

                     1. ศึกษาการสร้างและการดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ระยอง ลำปาง และที่จังหวัดมาเลเซียซึ่งมีอยู่หลายโรงและต่างตั้งอยู่ริมทะเล (ไม่ใช่ลึกเข้าไปในแผ่นดินเช่นที่กระบี่) ให้ชัดเจนว่า ไม่ได้ก่อมลพิษดังอ้าง

                     2. ศึกษาให้ชัดเจนว่า จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ สงขลาหรือประจวบคีรีขันธ์ หรือควรสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสอง หรือสามบริเวณเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน

                     3. ศึกษาตัวอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่จะสร้างในภาคใต้ว่าก่อหรือไม่ได้ก่อมลพิษแก่ท้องถิ่นอย่างไรหรือไม่ ให้ชัดเจน ไม่ใช่ฟังแต่ฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุนโดยไม่ศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
กรรมการกำกับการศึกษาฯ
บันทึกการเข้า
ปังปอน ขออภัย
Newbie
*

พลังน้ำใจ: 0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3



ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 17 มกราคม 2021, 20:57:48 »

ขอบคุณ สำหรับข้อมูลดีๆครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
พิมพ์