ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

หน้า: 1 2 3 [4]   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: รวมประวัติพระสุปฏิปันโน  (อ่าน 12444 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
todsapononline
คนรักเสียว
*

พลังน้ำใจ: 17
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 194



ดูรายละเอียด
« ตอบ #60 เมื่อ: 19 มีนาคม 2011, 16:21:16 »


ประวัติหลวงปู่ฝั้น อาจาโร (ตอนที่6)

ในระหว่างที่พักอยู่ในถ้ำพระ บนภูวัวครั้งนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งน่าจะนับว่าร้ายแรงที่สุดในชีวิตของท่าน

กล่าวคือ วันหนึ่ง พวกญาติโยมบ้านดอนเสียดและบ้านโสกก่ามได้พากันขึ้นไปนมัสการ ตกกลางคืน พระอาจารย์ฝั้นได้เทศนาอบรมตามปกติ พอเช้าวันรุ่งขึ้น ท่านก็ขอให้พวกญาติโยมพาไปชมภูมิประเทศบนภูวัว และเพื่อที่จะแสวงหาสมุนไพรบางอย่างด้วย เมื่อฉันจังหันเสร็จ ก็ออกเดินทางโดยมีโยม ๒ คนเดินนำหน้า พระอาจารย์ฝั้นและพระภิกษุตามหลัง ส่วนสามเณรอีกรูปหนึ่งท่านสั่งให้อยู่ที่พัก
 
ทั้งหมดเดินขึ้นไปตามลำห้วยบางบาด พอถึงลานหินที่ลาดชันขึ้นไปข้างบน ยาวประมาณ ๑๐ กว่าวา บนลานมีน้ำไหลริน ๆ และมีตะไคร่หินขึ้นอยู่ตามทางลาดชันนั้นโดยตลอด

โยม ๒ คนเดินนำหน้าขึ้นไปก่อน ท่านเดินตามขึ้นไป และตามด้วยพระภิกษุซึ่งรั้งท้ายอีกรูปหนึ่ง โยมทั้งสองไต่ผ่านลานหินอันชันลื่นขึ้นไปได้ ส่วนพระอาจารย์ฝั้นไต่จวนจะถึงอยู่แล้วเพียงอีกก้าวเดียวก็จะพ้นไปได้ พอก้าวเท้าข้ามร่องน้ำ ท่านก็ลื่นล้มลงทั้งยืน ศีรษะฟาดกับลานหินดังสนั่น เหมือนมะพร้าวถูกทุบ จากนั้นก็ลื่นไถลลงมาตามลาดหิน โดยศีรษะลงมาก่อน

พระภิกษุซึ่งรั้งท้าย ตกใจตัวสั่นอยู่กับที่ จะช่วยเหลืออะไรก็ไม่ได้ เพราะท่านเองประคองตัวแทบไม่ได้อยู่แล้ว ได้แต่มองดูพระอาจารย์ไถลผ่านหน้าไปด้วยความตกตะลึง

ไถลลงไปได้ประมาณ ๖ วา ก็ไปตกหลุมหินซึ่งเป็นแอ่งแห่งหนึ่ง แต่ด้วยความลื่นของตะไคร่ ท่านไม่ได้หยุดอยู่ลงเพียงนั้น กลับหมุนไปอยู่ในลักษณะเอาศีรษะขึ้น แล้วไถลลื่นต่อไปอีก

ข้างหน้าของท่านมีช่องหิน ใหญ่ครือ ๆ กับตัวคน น้ำที่ไหลลงมา ไปรวมหล่นอยู่ในช่องนั้นเป็นส่วนใหญ่ หากท่านไถลไปถึงช่องนั้นแล้วไหลพรวดลงไป ย่อมมีทางเดียวคือมรณภาพอย่างแน่นอน

แต่ด้วยอำนาจบุญ ก่อนจะถึงช่องหิน ท่านก็กลับตั้งหลักลุกขึ้นได้ แล้วเดินขึ้นไปตามทางเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พระภิกษุที่ไปด้วยได้ขอให้ท่านขึ้นไปทางอื่น แต่ท่านไม่ยอม บอกว่า เมื่อมันตกลงมาตรงนี้ ก็ต้องขึ้นไปตรงนี้ให้ได้” แล้วท่านก็เดินขึ้นไปใหม่ จนถึงที่จริง ๆ

น่าอัศจรรย์ตรงที่ว่า พระอาจารย์ฝั้นไม่มีบาดแผลเลยแม้แต่น้อย ถึงจะมีถลอกเพียงเท่าหัวไม้ขีดบนข้อศอก ก็ไม่น่าจะเรียกว่าบาดแผล

ตกเย็นกลับมาถึงที่พัก หลังจากสรงน้ำและต้มน้ำร้อนเสร็จแล้ว ท่านก็ออกเดินจงกรมตามปกติ พอตกค่ำ พระภิกษุได้เข้าไปปฏิบัติ แล้วถามอาการของท่าน ว่าขณะมี่ศีรษะกระแทกหินดังสนั่นนั้น ท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง ท่านก็ตอบว่า อาการก็เหมือนสำลีตกลงบนหินนั่นแหละ

พระภิกษุรูปนั้นขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ มีความเห็นว่า ในขณะที่ท่านกำลังลื่นล้มก่อนศีรษะฟาดลานหินนั้น ท่านสามารถกำหนดจิตได้ในชั่วพริบตา ทำให้ตัวท่านเบาได้ดังสำลีโดยฉับพลัน เพราะท่านเคยเทศน์สั่งสอนเสมอว่า จิตของผู้ที่ฝึกให้ดีแล้ว ย่อมมีสติพร้อมอยู่ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ถึงแม้หลับอยู่ ก็หลับด้วยการพักผ่อนในสมาธิ

การเดินทางลงจากถ้ำพระภูวัว ในคราวนั้น ประสบความยากลำบากยิ่งกว่าคราวก่อน เพราะฝนตกหนักทำให้น้ำมาก การข้ามห้วยข้ามคลองซึ่งมีอยู่หลายแห่งจึงไม่สะดวกเท่าที่ควร ที่น่าหนักใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตัวทาก ซึ่งชอบเกาะแข้งเกาะขาเพื่อกัดกินเลือด โดยเฉพาะในเขตที่เป็นดงดิบ จะมีฝูงทากนับไม่ถ้วนสองข้างทางเลยทีเดียว ดีที่โยมตัดไม้ไผ่เอามาเหลาให้แบนคล้ายใบมีด แล้วถวายพระอาจารย์ฝั้นกับพระภิกษุสามเณรที่ร่วมทาง พอมันกระโดดเกาะขาก็เขี่ยหลุดไปได้โดยมันไม่ทันกัด

เมื่อเดินทางมาถึงบ้านดอนเสียด พระอาจารย์ฝั้นได้แวะพักเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านดังกล่าวรวม ๓ คืน เพราะระยะนั้นชาวบ้านเจ็บป่วยกันมาก นอกจากนั้น ทุกคืน ยังมีแสงอะไรไม่ทราบ แดงโร่พุ่งข้ามหมู่บ้านไปมา นายคำพอ หัวหน้าหมู่บ้านได้นิมนต์ไปที่บ้านและขอให้ท่านได้เจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล พอเสร็จแล้วท่านได้อบรมชาวบ้าน แล้วเทศนาสั่งสอนต่อให้ละจากมิจฉาทิฏฐิ ให้เคารพกราบไหว้บูชาพระรัตนตรัย กับให้ภาวนา “พุทโธ” โดยทั่วกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต่อจากนั้นก็ประพรมน้ำพุทธมนต์ให้โดยทั่วถึง

ปรากฏว่า ชาวบ้านมีกำลังใจดีขึ้น หายเจ็บหายไข้เป็นปกติทุกคน แสงไฟแดงโร่ที่พุ่งข้ามหมู่บ้านไปมาทุกคืนก็พลอยหายไปด้วย พระอาจารย์ฝั้นจึงพาพระภิกษุสามเณรเดินทางต่อไปยังบ้านโสกก่าม พอไปถึง ชาวบ้านได้นิมนต์ให้พักที่วัดร้างในดงข้างหมู่บ้านอีก ๔ คืน เพราะอยากจะทำบุญฟังเทศน์กันให้เต็มที่

พระอาจารย์ฝั้น พักอยู่บนศาลาหลังเล็ก ๆ แต่ให้พระภิกษุสามเณรพักลึกเข้าไปในดง ให้แยกพักกันคนละด้าน โดยมีพวกโยมทำแคร่ยกพื้นให้แต่ไม่มีฝากั้น

เช้าวันรุ่งขึ้น พระอาจารย์ฝั้นได้ถามพระภิกษุรูปนั้นว่า เมื่อคืนได้ยินเสียงอะไรหรือเปล่า พระภิกษุตอบว่า ตอนสองยามเศษ ๆ ได้ยินเสียงสัตว์อะไรก็ไม่ทราบ ร้องเหมือนอีเก้ง วนเวียนอยู่ใกล้ ๆ ขณะจุดไฟเดินจงกรม พระอาจารย์ฝั้น ก็บอกให้ทราบว่า ไม่ใช่อีเก้ง แต่เป็นเสือใหญ่ พอมันออกจากที่นั่นก็ไปกินวัวของชาวบ้าน

ปรากฏว่าเป็นความจริง ขณะออกบิณฑบาต ชาวบ้านได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนนี้ เจ้าลายใหญ่กัดวัวไปถึงสองตัว ตัวหนึ่งเอาไปไม่ได้ มันกัดเสียจนเอวหัก แต่ไม่ตาย อีกตัวหนึ่งมันคาบหายไปเลย

ออกจากบ้านโสกก่าม พระอาจารย์ฝั้นได้พาพระภิกษุสามเณรเดินทางต่อไปยังอำเภอบ้านแพง แวะพักที่วัดป่าในอำเภอบ้านแพงคืนหนึ่ง เช้าวันรุ่งขึ้น ลงเรือล่องไปขึ้นที่จังหวัดนครพนม พักที่วัดป่าบ้านท่าควายอีกหนึ่งคืน แล้วขึ้นรถยนต์ต่อไปยังวัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร เพื่อเข้าจำพรรษาที่วัดนั้น

ตอนกลางพรรษา พระอาจารย์ฝั้นได้อบรมสั่งสอนพระเณรสานุศิษย์ ให้ตั้งใจบำเพ็ญความเพียรอย่างจริงจัง ถึงวันธรรมสวนะ ตามปักข์ ท่านจะพาสานุศิษย์นั่งบำเพ็ญร่วมกันบนศาลาโรงธรรมตลอดคืน ส่วนวันธรรมดา หลังจากเทศน์อบรมแล้ว ก็ให้แยกย้ายกันทำความเพียรต่อไป

พระอาจารย์ฝั้นพยายามทำตนเป็นตัวอย่างแก่สานุศิษย์ตลอดพรรษา ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน แทบว่าจะหาเวลาพักผ่อนได้ยากยิ่ง เช่นตอนหัวค่ำ ท่านเทศน์อบรมพระเณรจน ๓ ทุ่มครึ่ง จากนั้นท่านก็ลงเดินจงกรมไปจนถึง ๕ ทุ่มเศษ แล้วท่านก็ขึ้นกุฏิให้พระภิกษุขึ้นไปปฏิบัติท่านจนถึง ๖ ทุ่มเศษ เสร็จจากนั้นท่านก็ลงมาเดินจงกรมอีก แล้วขึ้นกุฏิ พอประมาณตี ๓ ท่านก็ออกมาล้างหน้าบ้วนปาก ไหว้พระสวดมนต์ สวดมนต์จบแล้วเดินจงกรมต่อจนสว่าง พอถึงเวลาออกบิณฑบาต ท่านจึงได้ขึ้นศาลาเตรียมครองผ้าออกบิณฑบาตต่อไป
 
เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๓ พระอาจารย์ฝั้นพร้อมด้วยพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ได้พาพระภิกษุสามเณรอีกบางรูปเดินธุดงค์ไปจังหวัดจันทบุรี โดยพระอาจารย์วิริยังค์ได้นิมนต์ไปในงานที่วัดดำรงธรรม ในเขตอำเภอขลุง การเดินทางครั้งนี้ ท่านกับคณะได้นั่งรถยนต์โดยสารจากสกลนครไปขึ้นรถไฟที่อุดรฯ เข้ากรุงเทพฯ แล้วนั่งรถโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปจันทบุรีอีกทอดหนึ่ง

ระหว่างพักที่วัดดำรงธรรม อำเภอขลุง ได้มีประชาชนสนใจเข้าฟังธรรมและรับการอบรมเป็นจำนวนมาก ต่อมา พระอาจารย์วิริยังค์ได้นิมนต์ไปพักที่สำนักสงฆ์บ้านกงษีไร่ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ ลึกเข้าไปในป่า ท่านได้พักอยู่ที่นั้นหลายวัน แล้วจึงกลับไปพักที่วัดดำรงธรรม

ต่อมาอีกหลายวัน ก็มีโยมนิมนต์ท่านและคณะไปพักวิเวกบนเขาหนองชึม อำเภอแหลมสิงห์ พักอยู่ที่นั่นได้ประมาณครึ่งเดือนก็มีโยมนิมนต์ท่านกับคณะไปพักที่ป่าเงาะ ข้างน้ำตกพริ้วอีกหลายวัน ซึ่งที่นั่นมีญาติโยมเข้ารับการอบรมในข้อปฏิบัติกันเป็นจำนวนมากตามเคย หลังจากนั้น จึงรับนิมนต์ไปพักตามป่าตามสวนของญาติโยมอีกหลายแห่ง

การเดินทางกลับ พระอาจารย์ฝั้นและคณะได้แวะตามสถานที่ต่าง ๆ อีกหลายแห่ง ครั้งสุดท้ายได้ไปพักที่วัดเขาน้อย ท่าแฉลบ เพื่อรอเรือกลับกรุงเทพฯ พักที่วัดนั้นประมาณ ๙ – ๑๐ วัน จึงได้ลงเรือมาถึงกรุงเทพฯ ในตอนเช้าของวันใหม่ รวมเวลาที่พักอยู่ในจันทบุรีเกือบ ๓ เดือน

ในกรุงเทพฯ พระอาจารย์ฝั้นกับคณะได้ไปพักที่วัดนรนารถฯ ๓ คืน จากนั้นก็มีโยมรับไปพักที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ แต่ขณะนั้น พระอาจารย์ลี ยังสร้างวัดไม่เสร็จเรียบร้อย พระอาจารย์ลีจึงได้พาพระอาจารย์ฝั้นกับคณะไปชมวัดต่าง ๆ ในจังหวัดลพบุรี และนมัสการพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีด้วย หลังจากนั้นอีก ๗ – ๘ วัน ท่านจึงพาคณะกลับไปยังวัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร และนับแต่นั้นมา พระอาจารย์ฝั้นได้มีกิจนิมนต์ต้องเดินทางไปจังหวัดจันทบุรี เป็นประจำเกือบทุกปี

กลับวัดป่าภูธรพิทักษ์คราวนี้ พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ พระอาจารย์ฝั้นได้จัดงานสำคัญขึ้นชิ้นหนึ่งที่วัดป่าสุทธาวาส และหลังจากนั้น งานดังกล่าวได้ถือปฏิบัติตลอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นั่นคือจัดวันประชุมใหญ่พระกัมมัฏฐาน ในวันคล้ายวันประชุมเพลิงศพของพระอาจารย์มั่น เพื่อระลึกถึงพระคุณของท่านที่มีต่อสานุศิษย์อย่างคงเส้นคงวามาตลอด พระอาจารย์ฝั้นได้ไปพักที่วัดป่าสุทธาวาสเพื่อเตรียมงานก่อนเป็นเวลาหลายวัน เพราะการก่อสร้างพระอุโบสถ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระอาจารย์มั่น กำลังกระทำอยู่อย่างรีบเร่ง โดยสร้างขึ้นบนพื้นที่ที่ใช้เผาศพพระอาจารย์มั่น

เสร็จงานประชุมพระกัมมัฏฐานคราวนั้นแล้ว พระอาจารย์ในได้กลับไปยังวัดป่าภูธรพิทักษ์ เพราะได้ตรากตรำในการงานมามาก สังขารเล่าก็ทรุดโทรมและอ่อนแอลงไปมาก

ประมาณเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านเจ้าคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส ได้มีบัญชาให้พระอาจารย์ฝั้น ไปพบที่กรุงเทพฯ ด่วน ท่านและพระภิกษุอีกรูปหนึ่ง กับเด็กลูกศิษย์อีกคนหนึ่งได้เดินทางเข้ากรุงเทพทันที ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ให้พักที่วัดบรมนิวาสได้สองคืน ก็เรียกท่านเข้าพบอีกครั้งแล้วให้ท่านเดินทางไปที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทราโดยด่วน เพราะที่วัดนั้นมีเรื่องไม่สงบเกิดขึ้นภายใน พระภิกษุสามเณรแตกความสามัคคีกัน พระอาจารย์ฝั้น จึงพร้อมด้วยพระภิกษุและสานุศิษย์ที่มาจากสกลนคร เดินทางไปวัดนั้นทันที เมื่อไปถึง ได้ไปสังเกตการณ์และสืบหาข้อเท็จจริงจากข้าหลวงอยู่ที่วัดนั้น ๔ – ๕ วัน พอประมวลเหตุการณ์ได้แล้ว จึงเดินทางกลับวัดบรมนิวาส และได้รายงานให้ท่านเจ้าคุณ สมเด็จฯ ทราบว่า ชาวบ้านและพระลูกวัดต้องการให้ส่งเจ้าอาวาสวัดนั้น ที่สมเด็จฯ เรียกมาสอบเรื่องราวแล้วยังไม่ได้ส่งกลับไป จึงเกิดเรื่องขัดแย้งไม่เข้าใจ และแตกแยกกันขึ้น เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทราบข้อเท็จจริงแล้ว จึงได้ส่งเจ้าอาวาสกลับคืนวัดนั้นไป เรื่องต่าง ๆ จึงค่อยสงบลง

ระหว่างที่อยู่ที่วัดบรมนิวาส พระอาจารย์ฝั้น กับพระลูกศิษย์ต้องออกบิณฑบาตไปเรื่อย ๆ ตามตรอกซอยต่าง ๆ พอเข้าไปในซอยแห่งหนึ่ง ชาวบ้านดีใจกันเป็นอันมาก เพราะไม่เคยมีพระไปบิณฑบาตในซอยนั้นมาก่อนเลย ต่างนิมนต์ให้รอก่อน บางบ้านก็จัดหาเก้าอี้มาให้นั่ง แล้วเตรียมข้าวปลาอาหารใส่บาตรกันอย่างฉุกละหุก เมื่อทราบว่าพระอาจารย์ฝั้นมาจากต่างจังหวัด ก็นิมนต์ให้เข้าไปบิณฑบาตทุกวันจนกว่าจะกลับ

โดยเฉพาะในซอยหนึ่งแถว ๆหลังวัดพระยายัง พระอาจารย์ฝั้นสามารถทำให้ฝรั่งครอบครัวหนึ่งเกิดศรัทธาออกมาใส่บาตร ทั้ง ๆ ที่ครอบครัวนี้ไม่เคยใส่บาตรมาก่อนเลย เมื่อจากฝรั่งครอบครัวนั้นออกมาแล้ว พระอาจารย์ฝั้นได้ปรารภกับพระลูกศิษย์ว่า ฝรั่งแท้ ๆ ยังรู้จักใส่บาตร

อีกไม่กี่วันต่อมา พระอาจารย์ฝั้นก็เดินทางกลับวัดป่าภูธรพิทักษ์ที่จังหวัดสกลนคร ก่อนกลับท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ได้ปรารภขึ้นว่า ตั้งใจจะให้ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพนิมิตร ที่ฉะเชิงเทรา แต่ท่านไปสังเกตการณ์ตนได้ความกระจ่าง สามารถคลี่คลายสถานการณ์ไปได้เช่นนี้ ก็นับว่าท่านได้ทำประโยชน์ให้มากทีเดียว

หลังจากพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ถึงแก่มรณภาพไปแล้ว ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ มีสามเณรเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ เพราะหลายรูปหันเข้ามาปฏิบัติต่อพระอาจารย์ฝั้น ส่วนที่ยังอ่อนต่อการศึกษาก็มุ่งหน้ามาเล่าเรียนฝึกหัด กุฏิที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอให้พำนัก ในปี ๒๔๙๔ พระอาจารย์ฝั้นจึงได้จัดให้มีการก่อสร้างกุฏิถาวรขึ้นหลายหลัง เพื่อให้เพียงพอแก่การอยู่จำพรรษา น่าสังเกตว่า ท่านได้เตือนพระภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า การก่อสร้างใด ๆ ไม่ให้มีการบอกบุญเรี่ยไรเป็นอันขาด ให้ทำเท่าที่จำเป็นสามารถจะทำได้ และให้ทำต่อเมื่อมีผู้ศรัทธาจะทำ มิฉะนั้นจะเป็นเรื่องเดือดร้อนถึงชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่จะให้ท่านคิดทำขึ้นเองนั้นน้อยเหลือเกิน เพราะท่านไม่ต้องการให้เป็นปลิโพธิกังวล แก่บรรดาพระเณร จะได้มีเวลากระทำความเพียรได้โดยปราศจากอุปสรรคของข้อกังวลนั้น ๆ

เข้าพรรษาปีนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ตามปกติ แนะนำพร่ำสอนและทำเป็นตัวอย่างแก่สานุศิษย์อย่างเคร่งครัดเหมือนปีก่อน ๆ รวมทั้งเทศนาสั่งสอนประชาชนตลอดพรรษา การประกอบความเพียรก็เร่งทั้งกลางวันและกลางคืน พระเณรรูปใดมีอารมณ์ฟุ้งซ่านไปในทางที่ผิด ท่านก็เทศน์สอนขึ้นมาเองโดยไม่มีใครบอก ราวกับว่าท่านหยั่งรู้ได้ด้วยตัวของท่านเองฉะนั้น บรรดาพระเณรจึงตั้งใจสำรวมกันอย่างเต็มที่

พอออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์วิริยังค์ได้นิมนต์พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์กงมาไปร่วมงานที่วัดดำรงธรรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี อีกครั้งหนึ่ง เสร็จงานวัดนั้นแล้ว ท่านได้ไปพักวิเวกอยู่ในป่าข้าง ๆ น้ำตกพริ้ว และได้มีญาติโยมนิมนต์ไปพักตามที่ต่าง ๆ อีกหลายแห่งตลอดระยะเวลาร่วม ๒ เดือน

ตอนเดินทางกลับ พระอาจารย์ฝั้นได้แวะพักที่วัดป่าบ้านฉางเป็นเวลา ๔ – ๕ วัน ประจวบกับชาวไร่กำลังเดือดร้อนเรื่องด้วงมะพร้าวกันมาก บางไร่กินจนมะพร้าวตายแทบเกลี้ยง บางแห่งต้องตัดสินใจเผาทิ้งหมดทั้งไร่ โยมผู้หนึ่งจึงขอให้ท่านทำน้ำมนต์ให้ เพื่อขจัดปัดเป่าความเดือดร้อนดังกล่าวให้หมดสิ้นไป พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ทำน้ำมนต์ให้ แล้วหยิบไม้สีฟันของท่านให้ไปด้วย ๔ – ๕ อัน กำชับให้ตั้งใจภาวนา พุทโธ ให้ดี แล้วให้เอาไม้สีฟันไปเหน็บ ๔ มุมไร่ กับให้เอาน้ำมนต์ไปพรมรอบ ๆ ไร่ด้วย

อีก ๒ วันต่อมา โยมผู้นั้นกับภรรยาก็กลับมาหาพระอาจารย์ฝั้นอีก ยกมือไหว้ท่วมหัวพร้อมกับเรียนว่า ความเดือดร้อนทั้งปวงเหือดหายไปอย่างน่าอัศจรรย์ บัดนี้ ตัวด้วงทั้งหลายหายไปจากไร่ของตนจนหมดสิ้นแล้ว ไม่ต้องเผาไร่เหมือนเจ้าของไร่คนอื่น ๆ

ออกจากวัดป่าบ้านฉาง พระอาจารย์ฝั้น ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ แวะพักกับพระอาจารย์ลี ที่วัดอโศการาม จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๕ จึงพาคณะกลับไปยังจังหวัดสกลนคร

กลับไปคราวนี้ท่านและไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส เพื่อเตรียมการประชุมในวันที่ระลึกคล้ายวันประชุมเพลิงศพพระอาจารย์มั่น จนกระทั่งเสร็จการประชุมแล้ว จึงได้กลับไปพักที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ตามปกติ แต่เมื่อพักได้ในราว ๒ สัปดาห์ พระอาจารย์ฝั้นก็พาพระลูกศิษย์ออกธุดงค์อีก คราวนี้ไปพักวิเวกที่ถ้ำเป็ด เขตอำเภอสว่างแดนดิน ใกล้ ๆ กับวัดพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ในปัจจุบัน ถ้ำเป็ดเป็นสถานที่วิเวกสงบดีมาก เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาเป็นอย่างยิ่ง ตลอดเวลาหลายเดือนที่ท่านไปพักวิเวกอยู่นั้น ท่านได้จัดการบูรณะสร้างถังน้ำ และได้สร้างกุฏิ ๒ – ๓ หลัง พร้อมทั้งศาลาโรงฉันไว้ด้วย

ปัจจุบันถ้ำเป็ดอยู่ในกิ่งอำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ซึ่งแยกออกมาจากอำเภอสว่างแดนดิน มาตั้งเป็นอีกอำเภอหนึ่ง การคมนาคมก็สะดวกขึ้นกว่าเดิม เพราะสมัยโน้นไม่มีถนนหนทางไปบ้านส่องดาว การไปมาต้องเดินเท้าแต่ประการเดียว

ที่ถ้ำเป็ด นอกจากพระอาจารย์ฝั้นจะพัฒนาทางด้านสถานที่ โดยชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันสร้างถาวรวัตถุไว้เป็นสาธารณะประโยชน์แล้ว ยังพัฒนาทางด้านจิตใจของชาวบ้านพร้อมกันไปด้วยอีกทางหนึ่ง โดยการเทศน์สั่งสอนให้รู้จักทาน ศีล และภาวนา ให้ขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน ปกติเมื่อพ้นฤดูทำนาแล้ว ชาวบ้านแถบนั้นจะเที่ยวเล่นสนุกสนานไปโดยไร้ประโยชน์ แล้วก็พากันบ่นว่าอดอยาก อาหารการกินก็ไม่สมบูรณ์ พระอาจารย์ฝั้นได้แนะนำให้ทำสวนครัว ปลูกผักต่าง ๆ ตลอดจนพริก มะเขือ ฯลฯ เป็นต้น แรก ๆ มีบางคนเท่านั้นที่ทำตาม และก็ได้ผลดีแก่เศรษฐกิจในครอบครัว ทำให้ชาวบ้านทั่วไปพากันเอาอย่าง ถึงขนาดบางรายมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตด้วย

ความสะอาดเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พระอาจารย์ฝั้นพยายามเทศน์สั่งสอน โดยแนะนำผู้ใหญ่บ้านให้ประชุมลูกบ้าน แล้วแนะนำให้ลูกบ้านรักษาความสะอาด และรักษาสุขภาพอนามัยทุกหลังคาเรือน เวลาออกบิณฑบาตเห็นตรงไหนสกปรกรกรุงรัง ก็บอกให้ทำความสะอาดตรงนั้น ไม่นานนัก หมู่บ้านนั้นก็สะอาด มองไปทางไหนก็ดูสดใสขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนหรือถนนหนทางโดยทั่วไป

อีกหมู่บ้านหนึ่งใกล้ ๆ กับถ้ำเป็ด ถึงฤดูแล้ง ชาวบ้านไม่ทำมาหากินอะไรเลย เฝ้าแต่ขุดหาอึ่งอ่างมาประกอบอาหารอยู่ทุกวี่ทุกวัน ยางวันไม่ได้สักตัวเดียว บางวันได้แค่ตัวสองตัว เมื่อไม่พอกินก็บ่นว่าอดอยาก พระอาจารย์ฝั้นได้ใช้โอกาสที่ชาวบ้านมาฟังธรรม เทศนาสั่งสอนว่าเป็นการขยันหมั่นเพียรในทางที่ผิด ปราศจากประโยชน์ทั้งส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม ขุดอึ่งอ่างได้ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป ควรเอาเวลาว่างจากการทำนามาขุดดินทำไร่ทำสวนจะดีกว่า ชาวบ้านก็ประจักษ์ในเหตุผลและพากันทำตาม จนกระทั่งเห็นผลขึ้นมาตามลำดับ บางคนถึงกับไปปรารภกับพระอาจารย์ฝั้นว่า ถ้าทำอย่างที่ท่านแนะนำมาแต่ต้น ป่านฉะนี้คงตั้งหลักฐานได้กันหมดแล้ว

เมื่อขึ้นไปพักที่ถ้ำเป็ดใหม่ ๆ มีถ้ำเล็ก ๆ อยู่ถ้ำหนึ่งถัดลงมาจากที่พักของพระอาจารย์ฝั้น พระภิกษุศิษย์รูปหนึ่งเห็นว่าสงบดี เหมาะแก่การพักวิเวก จึงให้พวกโยมที่ขึ้นไปส่ง จัดการยกแคร่สูงคืบเดียวให้ เพื่อใช้เป็นที่พัก ตกเย็นก่อนลงไปพักที่ถ้ำเล็กนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้เตือนพระภิกษุลูกศิษย์ว่า “ลงไปนอนที่ถ้ำนั้น ภาวนให้ดีล่ะ อย่าถึงกับหอบบริขารบาตรจีวรหนี ตั้งใจภาวนาให้ดี อย่าประมาท” ท่านหยุดหัวเราะแล้วกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า “ความกลัวของคนเรานั้นน่ะ ถ้ากลัวสุดขีดถึงกับเป็นพระกัมมัฏฐานก็เป็นบ้าได้เหมือนกัน ถ้าไม่กลัวตายเสียอย่างเดียวอยู่ไหนก็อยู่ได้” พระภิกษุรูปนั้นเข้าใจว่าท่านตักเตือนเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เมื่อตกดึกทำกิจวัตรเสร็จประมาณ  ๖ ทุ่มเศษ ก็ลงไปถ้ำเล็ก เข้าทำวัตรสวดมนต์จบแล้วก็เอนกายลงนอนพัก ตั้งใจว่าสักครู่จะลุกขึ้นภาวนาตามปกติ

กำลังเคลิ้ม ๆ พระภิกษุรูปนั้นก็สะดุ้งตื่นขึ้นมาด้วยความตกใจ เนื่องจากมีฝูงกบและเขียดแตกตื่นออกมาจากถ้ำเป็นฝูง ๆ แคร่ที่ยกไว้เป็นที่พักก็อยู่ตรงปากถ้ำพอดี กบใหญ่ ๆ ๓ – ๔ ตัว จึงโดดขึ้นมาเกาะอยู่บนหน้าอกจนรู้สึกเย็นยะเยือก พอท่านผุดลุกขึ้นมันก็โดดหนี จะลุกหนีออกมาก็บังเอิญนึกถึงคำเตือนของพระอาจารย์ฝั้นขึ้นมาได้ จึงสงบใจให้เป็นปกติ แล้วนั่งสดับเหตุการณ์อยู่เงียบ ๆ ทันใดก็ได้ยินเสียงงูเลื้อยดังแกรกกรากอยู่ในถ้ำ จะหนีก็เหมือนไม่เชื่อพระอาจารย์ จึงมุมานะนั่งภาวนาท่ามกลางเสียงงูเลื้อย และท่ามกลางเสียงกบเขียดกระโดดเป็นฝูง ๆ ตลอดคืน ในที่สุดเมื่อจิตสงบดีแล้ว ความกลัวก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง

เช้าวันนั้น เมื่อลงไปทำกิจวัตรที่กุฏิพระอาจารย์ฝั้นตามปกติ ท่านได้ทักทายขึ้นว่า

“เป็นไงมั่ง เกือบจะหอบบริขารวิ่งหนีความตายแล้วไหมล่ะ จะหนีไปอยู่ที่ไหนจึงจะพ้นความตายเล่า อยู่ที่ไหนมันก็ตายเหมือนกันแหละ”

พูดจบ ท่านก็ล้างหน้าบ้วนปากแล้วลงเดินจงกรมตามปกติ พระภิกษุรูปนั้นได้แต่รับฟังด้วยความอัศจรรย์

พระอาจารย์ฝั้น พำนักอยู่ที่ถ้ำเป็ดจนเกือบจะเข้าพรรษา คณะตำรวจโรงเรียนพล ฯ เขต ๔ จึงเอารถจี๊ปกลางขึ้นไปรับ เพื่อนิมนต์กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ตามเดิม

กลับมาจำพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๕ มีพระเณรเพิ่มขึ้นมาก ท่านจึงรับภาระเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ทั้งการสั่งสอนศิษย์ภายใน คือ พระภิกษุสามเณร และศิษย์ภายนอก คือบรรดาญาติโยมที่ไปศึกษาธรรม ตลอดจนคณะอุบาสก อุบาสิกา ที่ไปรักษาศีลอุโบสถเป็นประจำทุกวันพระ ท่านได้บำเพ็ญตนเป็นตัวอย่างแก่บรรดาสานุศิษย์อย่างเคร่งครัด เสมอต้นเสมอปลายตลอดทั้งพรรษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันพระอุโบสถ ตอนกลางคืนท่านจะพาสานุศิษย์นั่งสมาธิภาวนาตลอดคืน เมื่อเห็นว่ามีง่วงเหงาหาวนอน ก็จะเทศน์อบรมสลับไปเป็นช่วง ๆ เป็นที่น่าเลื่อมใสและศรัทธาแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง บางคนถึงกับออกปากปฏิญาณตนเลิกการประพฤติชั่วโดยเด็ดขาด นับว่าท่านได้ยังประโยชน์แก่มวลชนอย่างได้ผลเป็นอันมาก

หลังออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระอาจารย์ฝั้นมีกิจนิมนต์ลงไปกรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ เสร็จกิจแล้วได้เลยไปจันทบุรีอีกครั้งหนึ่ง กลับจากจันทบุรีได้แวะเข้าพักที่วัดอโศการาม

หลังจากนั้นแล้วจึงเดินทางกลับไปจังหวัดสกลนคร โดยมีคณะศิษย์ทั้งหลายจากกรุงเทพฯ บ้าง จากจังหวัดใกล้เคียงบ้าง พากันติดตามไปรับการอบรมธรรมจากท่านหลายคน พร้อมทั้งคณะทายก ทายิกาที่เป็นศิษย์ประจำอยู่ก่อนก็ยกขบวนเข้ารับการอบรมด้วยเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้ท่านต้องมีภาระในการรับแขกมากยิ่งขึ้น แต่ท่านก็มิได้ย่อท้อหรือเบื่อหน่าย ใครจะไปนมัสการเมื่อใดท่านต้อนรับเสมอหน้ากันหมด บางครั้งแขกมากมายทั้งกลางวันและกลางคืน จนท่านจะหาเวลาลุกไปสรงน้ำก็ยังยาก กว่าแขกจะกลับหมดก็ตก ๓ ทุ่มเศษ จึงได้มีโอกาส เคยมีพระภิกษุลูกศิษย์แนะนำให้รับแขกเป็นเวลา แต่ท่านไม่ยอม อ้างว่าจะทำให้คนเหล่านั้นเสียเวลาทำมาหากิน ต้องมารอกันเสียเวลาเป็นชั่วโมง ๆ โดยเปล่าประโยชน์

ในพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พระอาจารย์ฝั้นคงจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ตามเดิม ระหว่างนั้น ทางด้านฆราวาสญาติโยมยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้ที่ไปนมัสการก็มีมาก ทั้งใกล้และไกล แต่ท่านก็ยังเข้มแข็งในปฏิปทาตามปกติ

ตอนกลางพรรษาปีนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ปรารภกับศิษย์ทั้งปวงอยู่เสมอว่า ท่านได้นิมิตเห็นถ้ำอยู่ถ้ำหนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาภูพาน ในถ้ำนั้นมีแสงสว่างเท่า ๆ กับตะเกียงเจ้าพายุ ๒ ดวง อากาศก็ดี สงบและวิเวก เมื่อขึ้นไปอยู่ในถ้ำนั้นแล้วก็เหมือนกับอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่งทีเดียว ท่านปรารภอยู่เสมอด้วยว่า ออกพรรษาแล้วจะต้องไปดูให้ได้ พอออกพรรษา พระอาจารย์ฝั้นก็ตัดสินใจออกเดินทางไปยังถ้ำตามที่นิมิตไว้ แต่มิได้ตรงไปยังถ้ำดังกล่าวเสียทีเดียว ท่านได้ออกเดินทางไปกับพระภิกษุสามเณรอย่างละรูป ไปพักที่วัดป่าอุดมสมพร เพื่อพาคณะญาติโยมบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานอุทิศแก่บุพการีทั้งหลาย เสร็จแล้วออกเดินทางไปพักที่วัดป่าบ้านกู่ เพื่อบำเพ็ญกุศลครบรอบวันฌาปนกิจของพระอาจารย์กู่ จากนั้นได้เดินทางไปพักที่วัดป่าข้าง ๆ วัดบ้านไอ่ ๒ คืน แล้วเดินทางต่อไปยังบ้านคำข่า พอไปถึงพวกโยมได้พาไปพักในดงข้างหมู่บ้าน เป็นดงหนาทึบมาก ชาวบ้านเรียกกันว่า ดงวัดร้าง เมื่อทำความคุ้นเคยกับญาติในหมู่บ้านดีแล้ว ท่านก็ถามว่า ภูเขาแถบนี้มีถ้ำบ้างหรือไม่ พวกโยมตอบว่ามีหลายแห่งทั้งถ้ำเล็กและถ้ำใหญ่ ท่านจึงให้พวกโยมพาขึ้นไปดูในวันต่อมา วันนั้นทั้งวันให้ดูถ้ำหลายถ้ำ แต่ไม่ตรงกับถ้ำที่นิมิตสักแห่ง จึงกลับไปยังที่พัก

ญาติโยมได้บอกท่านว่า ยังมีอีกถ้ำหนึ่ง อยู่บนยอดเขา เป็นถ้ำใหญ่มาก ชาวบ้านเรียกว่าถ้ำขาม ทุกปีเมื่อถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะขึ้นไปทำบุญและสรงน้ำพระบนถ้ำนั้นเป็นประจำ แล้วก็พาท่านไปดูในวันรุ่งขึ้น การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องปีนต้องไต่ไปตามไหล่เขาอันเต็มไปด้วยขวากหนาม

เมื่อไปถึงถ้ำขามแล้ว พระอาจารย์ฝั้นเดินดูรอบ ๆ บริเวณอยู่สักครู่ ก็ออกปากขึ้นทันทีว่า “เออ ถ้ำนี้แหละที่เรานิมิตเห็นตอนกลางพรรษา” พูดแล้วท่านก็ให้พวกโยมจัดหาไม้มาทำเป็นแคร่นอนขึ้นในถ้ำรวม ๒ ที่ ความจริงท่านตั้งใจจะพักค้างคืนในคืนนั้นเลย แต่เนื่องจากไม่ได้เตรียมบริขารและเสบียงอาหารไปด้วย จึงจำต้องกลับลงมาก่อน ระหว่างทางที่ลงมานั้น ท่านได้ให้พวกโยมตัดทางลงมาด้วย จะได้ขึ้นโดยสะดวกในวันหลัง

เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากฉันจังหันเสร็จแล้ว ท่านก็เดินทางขึ้นไปยังถ้ำขามพร้อมด้วยญาติโยมและเสบียงกรัง เพราะถ้ำนั้นอยู่ห่างจากหมู่บ้านมาก การสัญจรบิณฑบาตไม่สะดวก ต้องอาศัยลูกศิษย์ทำอาหารเอง จึงต้องเตรียมเสบียงกรังขึ้นไปด้วย

พระอาจารย์ฝั้นได้ขึ้นไปพักอยู่บนถ้ำขาม พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรผู้เป็นศิษย์เมื่อประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗

เมื่อขึ้นไปพักใหม่ ๆ มีความขัดข้องในเรื่องน้ำกินน้ำใช้ พวกโยมก็แนะนำว่ามีน้ำบ่อซึมอยู่ที่ภูเขาอีกลูกหนึ่งทางตะวันออก ห่างจากถ้ำขามไปประมาณ ๔ กิโลเมตร เมื่อไม่มีแหล่งน้ำใดใกล้กว่า จึงจำเป็นต้องใช้น้ำจากบ่อซึมดังกล่าว โดยใช้กระบอกไม่ไผ่เป็นภาชนะบรรจุน้ำ สะพายใส่บ่าทั้งสองข้างกลับไปยังถ้ำขาม หากใช้ถังหรือปีบบรรจุจะหกเสียหายแทบหมด เพราะต้องหาบหามระหกระเหินเป็นระยะทางไกลมาก

ในช่วงที่ขึ้นไปใหม่ ๆ การใช้น้ำต้องกระทำอย่างประหยัด พระเณรต้องเดินไปสรงน้ำไกลถึง ๔ กิโลเมตรเศษ เสร็จแล้วจึงสะพายกระบอกน้ำกลับขึ้นมาบนถ้ำขามอีก กว่าจะถึงที่พักเหงื่อก็โทรมร่างราวกับว่ายังไม่ได้อาบน้ำมาเลย

อยู่ในสภาพเช่นนั้นมาประมาณครึ่งเดือน พระอาจารย์ฝั้นก็บอกพระภิกษุลูกศิษย์ว่า บนเขาหลังถ้ำขามนี้มีอ่างน้ำอยู่เหมือนกัน แต่ดินถมลงไปจนเต็มหมด หากขุดดินออกคงเก็บน้ำฝนได้มากอยู่ ท่านบอกว่าได้นิมิตเห็นอ่างที่ว่ามา ๒ – ๓ วันแล้ว จากนั้นก็พากันเดินสำรวจ ในที่สุดก็ได้เห็นปากอ่างซึ่งมีหญ้าปกคลุมอยู่เต็ม พระอาจารย์ฝั้นได้ให้พระภิกษุลูกศิษย์โกยดินขึ้น พอโกยดินลึกลงไปประมาณเมตรเศษ ๆ ก็มีน้ำซึมออกมา จึงปล่อยไว้ให้น้ำซึมออกมาเป็นน้ำบ่อ อาศัยตักใช้ไปได้หลายวัน พอน้ำแห้งก็โกยดินกันใหม่ให้ลึกลงไปกว่าเก่า ก็มีน้ำซึมออกมาให้ใช้อีก เป็นอยู่เช่นนั้นประมาณเดือนเศษ พอขุดลึกลงไปโพรงอันกว้างใหญ่ ๒ – ๓ โพรงซึ่งอยู่ใต้ดินก็ทะลุถึงกันเข้าเอง เป็นเหตุให้กลายสภาพเป็นอ่างขนาดใหญ่ ขนาดลงไปยืนแล้วยื่นมือขึ้นมาไม่ถึงปากหลุม เป็นอ่างเก็บน้ำฝนได้อย่างดีจนกระทั่งทุกวันนี้ และต่อมาอีกปี ก็ได้ระเบิดหินทำเป็นสระน้ำขึ้นอีก ๓ สระ บนหลังเขา จึงมีน้ำใช้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน

ทางด้านหลังถ้ำ ซึ่งเต็มไปด้วยต้นลั่นทมขาว ดอกสะพรั่งส่งกลิ่นหมอฟุ้งไปทั่งบริเวณ พระอาจารย์ฝั้นได้ให้พวกญาติโยมปัดกวาดทำความสะอาดจนกระทั่งมีสภาพเรียบร้อยน่าดูขึ้น

ถึงวันวิสาขบูชาเดือน ๖ พระอาจารย์ฝั้นได้นำญาติโยมทำพิธีเวียนเทียน เสร็จแล้วเทศนาอบรมสั่งสอนตลอดทั้งคืน ท่านนั่งเทศน์ใต้ต้นลั่นทมจนสว่างคาตา มีชาวบ้านขึ้นไปร่วมงานมากเป็นพิเศษ ธูปเทียนบูชาสว่างไสวไปหมดทั้งภูเขา ต่อมาพระอาจารย์ฝั้นได้ให้ญาติโยมช่วยกันทำที่พักมีหลังคาและฝากั้น เพื่ออาศัยจำพรรษาที่ถ้ำขามในปีนั้น แต่การจำพรรษาจะให้พระภิกษุสามเณรอยู่กันน้อยรูปที่สุด เพราะลำบากเกี่ยวกับอาหารการฉัน หมู่บ้านก็อยู่ไกล บิณฑบาตไปไม่ถึง ท่านปรารภด้วยว่า ได้พบสถานที่อันเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรอย่างสมบูรณ์แล้ว ท่านเองไม่ลงไปจำพรรษาข้างล่างอย่างแน่นอน แล้วท่านก็เลือกที่พักสำหรับจำพรรษา คือ กุฏิของท่านที่อยู่บนถ้ำขามในปัจจุบัน ชาวบ้านเรียกว่าถ้ำเสือ เมื่อขึ้นไปพักใหม่ ๆ เสือตัวนี้ยังขึ้นลงเข้าออกอยู่เป็นประจำ ต่อมาเมื่อท่านไปทำที่พักขวางทางเข้า มันจึงหลบหนี ไม่กล้ำกรายเข้ามาอีกเลย

เป็นอันว่าในปีพ.ศ. ๒๔๙๗ พระอาจารย์ฝั้นได้จำพรรษาอยู่บนถ้ำขาม โดยมีพระภิกษุอีก ๓ รูป กับสามเณรอีก ๓ รูปร่วมจำพรรษาอยู่ด้วย แม้จะอดอยากอย่างไรก็มิได้ถือเป็นอุปสรรค เพราะที่นั่นไกลจากหมู่บ้าน ต้องเดินเท้าเปล่าจากถนนใหญ่ไปอีกเป็นระยะทางถึงกว่า ๒๐ กิโลเมตรการบิณฑบาตจึงไม่อาจกระทำได้

แต่ในพรรษานั้นมีชาวไร ๓ ครอบครัวขึ้นไปทำไร่พริกบนภูเขาอีกลูกหนึ่ง และมีศรัทธานิมนต์พระไปบิณฑบาตเป็นประจำ จึงไม่ถึงกับอดอยากกันเท่าไรนัก ส่วนพระอาจารย์ฝั้นนั้น
บันทึกการเข้า

todsapononline
คนรักเสียว
*

พลังน้ำใจ: 17
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 194



ดูรายละเอียด
« ตอบ #61 เมื่อ: 19 มีนาคม 2011, 16:26:36 »


ประวัติหลวงปู่ฝั้น อาจาโร (ตอนที่7)

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้พาญาติโยมซึ่งเสร็จจากการทำนาไปทำสระน้ำบนหลังถ้ำ และตัดเส้นทางลงมาบิณฑบาต โดยวิธีนัดพบกันกลางทาง กล่าวคือทางพระเดินจากถ้ำลงมา ชาวบ้านออกจากบ้านไปใส่บาตร เมื่อใส่บาตรแล้วก็แยกย้ายกันกลับ

ถึงฤดูแล้งปีพ.ศ. ๒๔๙๘ พระอาจารย์ฝั้นปรารภกับบรรดาญาติโยมที่ไปปฏิบัติท่านว่า ผู้คนที่ไปปฏิบัติท่าน เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน ศาลาโรงธรรมที่มีอยู่ไม่แข็งแรงและไม่เพียงพอแก่การพักอาศัย สมควรที่จะสร้างศาลาโรงธรรมอันเป็นที่พักให้ถาวรขึ้น ญาติโยมทั้งหลายก็เห็นพ้องด้วย จึงช่วยกันจัดหาอุปกรณ์การก่อสร้าง โดยตกลงให้พระอาจารย์ฝั้นเป็นผู้อำนวยการสร้างด้วยตัวของท่านเอง

การลำเลียงอุปกรณ์ก่อสร้างขึ้นไปบนภูเขาครั้งนั้น เต็มไปด้วยความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง ทั้งพระทั้งเณรพร้อมด้วยชาวบ้าน ต้องใช้กำลังกายแบกหามวัสดุต่าง ๆ ขึ้นไป เสาบางต้นยาวตั้ง ๑๑ – ๑๒ เมตร แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีใครย่อท้อ ระหว่างนั้นชาวบ้านได้ทราบข่าวว่า พระอาจารย์ฝั้นจะสร้างศาลาโรงธรรม ก็พร้อมใจกันขึ้นไปช่วยอย่างคับคั่ง จนกระทั่งการขนอุปกรณ์การก่อสร้างสำเร็จลงโดยไม่มีใครเห็นแก่ความเหนื่อยยาก

เมื่อถึงวันยกเสา ชาวบ้านทั้งใกล้และไกล ได้ขึ้นไปช่วยอย่างพร้อมเพรียงและในที่สุด การยกเสาขึ้นตั้งโดยการควบคุมของพระอาจารย์ฝั้น ก็สำเร็จไปได้อย่างน่าอัศจรรย์

ที่ว่าน่าอัศจรรย์ก็เพราะว่า พื้นที่ที่จะปลูกสร้างศาลาโรงธรรมนั้นไม่เสมอกัน สูง ๆ ต่ำ ๆ และระเกะระกะไปด้วยก้อนหิน เสาทุกต้นที่ขึ้นตั้งบนก้อนหิน จึงสั่นบ้างยาวบ้าง เมื่อพระอาจารย์ฝั้นสั่งให้ตัดและบากเสาให้เป็นใกสำหรับรับคานเรียบร้อยแล้วทุกต้น จึงให้ยกขึ้นตั้งหมดทุกเสา

ปรากฏว่า เสาทุกเสาตั้งได้ที่ทุกต้น โดยไม่ต้องแก้ไขหรือขยับเขยื้อนเลย มิหนำซ้ำ ทั้ง ๆ ที่ตั้งเสาขึ้นบนหิน เสาทุกต้นก็แน่นปั๋ง รางกับฝังลึกในดินเป็นเมตร ๆ

ชาวบ้านที่ขึ้นไปช่วยต่างกลัวกันว่า เสาจะล้มทับ แต่พระอาจารย์ฝั้นปลอบว่า ไม่เป็นไร ตั้งใจทำไปเถอะ และไม่ยอมให้ชาวบ้านตีค้ำยันเพื่อกันล้ม ท่านบอกชาวบ้านว่า ถ้าไม่เชื่อผลักดูก็ได้ว่ามันจะล้มไหม ชาวบ้านบางคนได้เข้าไปผลักดูเขย่าดู เมื่อเห็นว่าตั้งอยู่บนหินได้อย่างแน่นหนาทุกต้นก็ได้แต่ประหลาดใจ แต่ละคนไม่กล้าพูดอะไร ได้แต่มองหน้ากันไปมา

เมื่อตั้งเสาเสร็จก็ตกเย็น พวกญาติโยมบางคนก็ลงจากเขากลับบ้าน แต่ส่วนใหญ่พักค้างกันอยู่บนเขา เพื่อช่วยงานต่อไปในวันรุ่งขึ้น

คืนนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ลงไปทำวัตรสวดมนต์แล้วเทศนาสั่งสอน และแนะนำให้พวกชาวบ้านภานาพุทโธกันเข้าไว้ อย่าหลับนอนให้มากนัก เมื่อแนะนำเสร็จก็ให้ไปพักผ่อนกันได้ พอตกดึกเงียบสงัด บรรดาญาติโยใ ๓ – ๔ คนที่พักอยู่ในถ้ำ ต่างได้ยินเสียงผู้คนนับร้อย ๆ คุยกันก้องถ้ำไปหมด แต่ยังไม่ได้ศัพท์ว่าพูดเรื่องอะไร แรก ๆ ก็คิดว่าชาวบ้านบางคนลุกขึ้นมาคุยกัน แต่เมื่อมองไปรอบ ๆ ก็เห็นทุกคนนอนหลับ จึงรู้สึกเอะใจและนึกกลัวขึ้นมาทันที จะนอนก็นอนไม่หลับ ได้แต่จับกลุ่มสดับเหตุการณ์จนกระทั่งตี ๕ เศษ จึงได้ลุกไปถามพระภิกษุรูปหนึ่งดูว่าเป็นเสียงอะไรกันแน่ แต่พระภิกษุรูปนั้นไม่ยอมตอบ เพียงแต่แนะนำให้ไปถามพระอาจารย์ฝั้นเอาเอง แล้วท่านก็ชวนชาวบ้าน ๓ – ๔ คนนั้นไปเดินจงกรมด้วยกันบนหลังถ้ำ

เช้าวันนั้น พระอาจารย์ฝั้นขึ้นไปบนศาลา ก็ทักทายกับพวกญาติโยมทันทีว่า เป็นยังไงบ้าง เมื่อคืนนั่งกลัวจนนอนไม่หลับทีเดียวหรือ ได้ยินพวกเทพเขามาอนุโมทนาสาธุการกันหรือเหล่า เขามาอนุโมทนากันตั้งมากมาย พวกโยม ๓ – ๔ คน ที่ผ่านเหตุการณ์มาเมื่อคืน ได้แต่มองหน้ากันอย่างประหลาดใจ ทำไมพระอาจารย์ฝั้นจึงทราบได้ว่า เมื่อคืนกลัวกันมากจนหลับไม่ลงก็ไม่ทราบ

ในที่สุด ศาลาโรงธรรมหลังถาวร ภายใต้การอำนวยการสร้างของพระอาจารย์ฝั้นก็สำเร็จลง ในการนี้ได้มีการสร้างกุฏิที่พักอาศัยของพระอาจารย์ฝั้นขึ้นใหม่ด้วย พร้อมทั้งทำสระน้ำใหญ่บนหลังถ้ำเพื่อเป็นที่เก็บน้ำฝนมาจนกระทั่งปัจจุบัน นับว่าได้อำนวยประโยชน์แก่บรรดาศิษยานุศิษย์ และบรรดาญาติโยมทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง
 
มีเรื่องน่าบันทึกไว้ในที่นี้อีกเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ ก่อนจะลงมือสร้างศาลาโรงธรรมดังกล่าว ได้เกิดปัญหาแก่บรรดาญาติโยมทั้งหลายขึ้นมาว่า องค์พระประธานซึ่งเจ้าภาพจัดส่งไว้ที่บ้านคำข่านั้น ทำอย่างไรจึงจะอัญเชิญขึ้นไปให้ถึงถ้ำขามได้ เพราะระยะนั้น ถนนสำหรับขึ้นลงยังไม่มี ทางคนเดินแม้จะมีอยู่ แต่จะขึ้นลงแต่ละทีก็แสนลำบากมากอยู่แล้ว แต่พระอาจารย์ฝั้นได้บอกบรรดาญาติโยมทั้งหลายว่าไม่ยาก ให้พากันหามขึ้นไปเลย โดยมีคนถางทางนำหน้าขึ้นไปก่อน ฝ่ายที่หามพระประธานก็ให้หามตามไปเรื่อย ๆ หากจะตัดทางให้เสร็จก่อนแล้วหามพระประธานขึ้นไป ก็จะเสียเวลาไปอย่างน้อยถึง ๕ วัน จึงจะตัดทางได้สำเร็จ อีกประการหนึ่ง พระอาจารย์ฝั้นจะต้องจากถ้ำขามไปในงานประชุมประจำปีของคณะศิษย์พระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าสุทธาวาส ไม่มีเวลาพอจะรอได้ ชาวบ้านก็สนองเจตนาของท่าน ด้วยการแบ่งกำลังออกเป็นสองชุด ชุดแรกให้ถางทางขึ้นไปก่อน ชุดหลังหามพระประธานตามขึ้นไป เมื่อลงมือกันเข้าจริง ๆ ชุดที่ถางทางขึ้นไปก่อน ทำงานไม่ทัน เพราะเป็นป่ารก เต็มไปด้วยขวากหนาม ชุดที่หามพระปรานขึ้นไปไม่อาจหยุดรอได้ เพราะพระประธานหนักมาก จะวางลงหรือยกขึ้นแต่ละครั้งลำบากเป็นที่สุด เนื่องจากสภาพพื้นที่สูงชันและเต็มไปด้วยก้อนหินระเกะระกะ จึงจำเป็นต้องแซงชุดที่ถางทางขึ้นไปก่อน เมื่อแซงไปแล้ว ก็บุกต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง เพราะทางชันขึ้นตลอดเวลา ชุดที่ถางทางล่วงหน้า จึงพากันวางมีด ช่วยกันผลัดเปลี่ยน ทำหน้าที่หามร่วมขบวนไปด้วย ตนในที่สุดก็อัญเชิญพระประธานขึ้นไปถึงถ้ำขามได้สำเร็จภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

น่าสังเกตว่า ในขณะที่ชาวบ้านช่วยกันหามพระประธานขึ้นไปนั้น ผู้คนชุลมุนวุ่นวายถึงขนาดล้มลุกคลุกคลานอยู่ตลอดเวลา หลายต่อหลายคนล้มลงไปในดงขวากหนาม น่าจะได้รับบาดเจ็บหรือมีบากแผลกันบ้าง แต่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง ทุกคนปลอดภัยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บเลยสักคน

และในปีนั้นเอง มีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งว่า ได้มีคณะศิษย์ทางกรุงเทพฯ พากันขึ้นถ้ำขามไปนมัสการพระอาจารย์ฝั้นเป็นจำนวนมาก แม้การขึ้นถ้ำขาม จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ยังอุตส่าห์ขึ้นไปจนถึง ที่จ้างเกวียนนั่งไปจนถึงเขาแล้วเดินขึ้นก็มี ที่ขึ้นไปแล้วต้องพักเหนื่อยค้างคืนก็มีมาก ทางรถยนต์ที่สร้างขึ้นไปจนถึงถ้ำขามในทุกวันนี้นั้น ก็เกิดจากนายช่างวิศวกรท่านหนึ่ง อุปสมบทแล้วขึ้นไปจำพรรษาอยู่บนถ้ำขามในปีพ.ศ. ๒๕๐๗ เมื่อจวนจะออกพรรษา ได้เกิดศรัทธาจะทำทางรถยนต์ขึ้นลงถ้ำขามให้ได้ จึงออกสำรวจทางหลังถ้ำ แล้วทำทางลงมาจนสำเร็จ ยังผลให้รถยนต์วิ่งขึ้นลงได้จนปัจจุบัน

ในพรรษาปีพ.ศ. ๒๔๙๘ พระอาจารย์ฝั้นคงจำพรรษาอยู่บนถ้ำขามพร้อมด้วยพระภิกษุ ๔ รูปกับสามเณรอีก ๓ รูป เท่ากับพรรษาก่อน ในฤดูแล้งปีนั้น มีการทำสระน้ำเป็นงานหลัก สระน้ำบนถ้ำขามนั้นปรากฏว่าต้องทำถึงสองครั้ง เมื่อทำเสร็จครั้งแรกเก็บน้ำเต็มสระแล้วเกิดชำรุด ผนังแตกร้าว น้ำไหลซึมออกไปหมด จึงต้องจัดทำกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยขยับเนื้อที่เข้าไปอีก ครั้งนี้ทำผนังเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก จึงแน่นหนาถาวรมาจนกระทั่งปัจจุบัน และในปีต่อมาพระอาจารย์ฝั้นได้ทำสระน้ำอีกแห่งบนพื้นที่สูงขึ้นไป จึงมีทั้งหมดรวมสองสระ

ตลอดเวลาที่ผ่านไป พระอาจารย์ฝั้น ฯ ยังคงนำสานุศิษย์บำเพ็ญความเพียรอย่างคงเส้นคงวา สำหรับอาหารการบิณฑบาตยังคงขัดสนอยู่เช่นเคย แต่บรรดาพระภิกษุสามเณรที่อาศัยอยู่กับพระอาจารย์ฝั้นฯ ก็มิได้ย่อท้อต่อความลำบาก ชาวบ้านก็เอาใจใส่เป็นอย่างดี โดยเดินทางไปใส่บาตรที่เชิงเขา ส่วนพระและเณรก็เดินลงจากเขา รับบิณฑบาตแล้วก็เดินกลับขึ้นไป หว่าจะได้ลงมือฉันก็ตกเข้าไปเกือบ ๙ นาฬิกาครึ่ง ขณะเดียวกันนั้น ก็ได้มีการจัดสร้างกุฏิ สำหรับพระและเณรอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยแรงศรัทธาของบรรดาสานุศิษย์ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านไปมีพระและเณรขึ้นไปอาศัยและจำพรรษามากขึ้นเป็นลำดับ

มีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งว่า ขณะที่พระอาจารย์ในฯ ขึ้นไปพักบนถ้ำขามใหม่ ๆ นั้น บริเวณเชิงเขาเต็มไปด้วยป่ารก เป็นดงช้างดงเสือ และสัตว์ป่านานาชนิด แต่ปัจจุบันได้เป็นป่ากล้วย และไร่สวนไปมากมาย

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพระอาจารย์ฝั้น ฯ ได้เป็นผู้แนะนำให้ชาวบ้านบุกเบิก เพื่อประโยชน์ในการครองชีพ และในทางเศรษฐกิจของชาวบ้านแถบนั้นเอง เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งขณะที่พระอาจารย์ฝั้น ฯ ได้แนะนำสั่งสอนให้ญาติโยมมีความขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน ท่านได้แนะนำให้ปลูกกล้วยปลูกอ้อยให้มากขึ้นด้วย จะได้มีอยู่มีกินไม่อดอยากยากแค้น โยมคนหนึ่งได้ค้านขึ้นว่า หมู่บ้านแถบนี้พื้นที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นเสียแรงเปล่า ๆ ต่อให้เทวดาหน้าไหนมาปลูกก็ไม่ได้ผล พระอาจารย์ฝั้น ฯ จึงถามว่าได้ลองปลูกดูแล้วหรือยัง โยมผู้นั้นตอบว่า ยัง พระอาจารย์ฝั้น ฯ จึงสั่งสอนว่า เพราะพวกเราพากันขี้เกียจเช่นนี้แหละถึงได้พากันอดอยาก ขาดแคลนกันมาเรื่อย มัวแต่พูดมัวแต่คิดว่าทำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยลงมือทำเลย แล้วจะรู้ผลได้อย่างไรว่าปลูกขึ้นหรือไม่ขึ้น หากปลูกไม่ขึ้นจริง ๆ แล้วบรรดาต้นไม้ต่าง ๆ เหล่านี้มันจะอยู่ได้อย่างไร ถึงภูเขานี้เองก็เถอะ ถ้าปลูกลงไปมันก็ขึ้นได้เหมือนกัน แล้วพระอาจารย์ฝั้นก็สั่งให้ญาติโยมหาหน่อกล้วยขึ้นไปปลูกดูบนภูเขา เพื่อลองดูว่ามันจะขึ้นได้หรือไม่ พร้อมกันนั้น ก็พาญาติโยมรวมทั้งโยมที่ค้านท่านไปปรับพื้นที่ตรงที่เป็นป่ากล้วยทุกวันนี้ด้วยกันทุกคน ต่อ ๆ มา พวกโยมก็แบกหน่อกล้วยขึ้นไปปลูกวันละต้นสองต้น ในที่สุดกล้วยที่ปลูกก็เจริญงอกงามจนเป็นป่ากล้วยอยู่ในปัจจุบัน และไร่สวนในบริเวณถ้ำขาม ก็เกิดขึ้นอย่างมากมายตามกันมา นับว่าพระอาจารย์ฝั้น ฯ ได้เป็นผู้บุกเบิกนำความเจริญไปสู่หมู่บ้านนั้นอย่างแท้จริง

ในพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๙ พระอาจารย์ฝั้น ฯ ลงไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ เพราะบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายได้อ้อนวอนขออาราธนาท่านลงไปจำพรรษาอยู่ที่นั่น ออกพรรษาแล้วท่านก็กลับขึ้นไปบนถ้ำขามและนำสานุศิษย์ในการบูรณะ กับก่อสร้างถาวรวัตถุเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ในพรรษา พ.ศ. ๒๕๐๐ มีพระและเณรจำพรรษาอยู่กับท่านรวม ๗ รูป เหมือนปีก่อน ปีต่อมาก็ยังคงจำนวนเดิม แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ มีพระและเณรจำพรรษาเพิ่มขึ้นเป็น ๙ รูป ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เพิ่มเป็น ๑๕ รูป จนเกินกำลังของผู้ที่จะให้ความอุปัฏฐาก ยังความลำบากแก่พระและเณรในกลางพรรษาเป็นอันมาก ในพรรษาต่อมาท่านจึงตัดจำนวนลง คือในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ มีพระและเณรจำพรรษาลดลงเหลือ ๙ รูป และปีพ.ศ. ๒๕๐๕ ลดลงอีกเหลือ ๖ รูป

เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๐๕ แล้ว พระอาจารย์ฝั้น ฯ ได้ลงไปพักที่วัดป่าอุดมสมพร ในฤดูแล้งของปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ท่านได้นำญาติโยมพัฒนาเส้นทางจากโรงเรียนบ้านม่วงไข่ไปบ้านหนองโดกโดยช่วยดูแลเป็นกำลังใจแก่ชาวบ้านอย่างใกล้ชิด เป็นเวลาถึง ๕ – ๖ วัน การตรากตรำคร่ำเคร่งงานในขณะสังขารกำลังร่วงโรยเช่นนี้ เป็นเหตุให้ท่านป่วยหนักถึงขนาดต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร หลังจากนั้นประมาณ ๒ สัปดาห์ เมื่ออาการทุเลาลงแล้ว จึงกลับไปพักฟื้นที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ อีกพรรษาหนึ่ง เพราะขณะนั้นท่านมีอายุมากแล้ว และมีโรคภัยเบียดเบียนด้วย คณะแพทย์และสานุศิษย์เห็นว่าการเดินขึ้นลงที่ถ้ำขามต้องออกกำลังมาก อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของท่านได้ จึงวิงวอนให้ท่านพักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ไปพลางก่อน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ท่านจะจำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นเพื่อเป็นการพักฟื้น แต่บรรดาญาติโยมทั้งใกล้และไกลก็ยังพากันไปนมัสการอยู่ไม่ขาด ท่านเองก็เมตตาต้อนรับ และเทศนาอบรมสั่งสอนโดยมิเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย นับเป็นอันตรายต่อสุขภาพของท่านเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ท่านยังมีภารกิจในการอบรมพระภิกษุสามเณร โดยเฉพาะนวกภิกษุผู้บวชใหม่ไปพร้อมกันด้วย ทั้งยังได้นำการพัฒนาวัด โดยขุดลอกขยายสระหนองแวงให้กว้างและลึกจนเป็นรูปสระใหญ่ สร้างโบสถ์น้ำขึ้นในแบบได้ประโยชน์ใช้สอยและถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ โดยหลีกเลี่ยงความวิจิตรพิสดารในการตกแต่งอย่างสิ้นเชิง สำหรับกุฏิที่พักก็ได้สร้างขึ้นใหม่เท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น

ในปี ๒๕๐๗ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ผู้ซึ่งจากไปเทศนาอบรมสั่งสอนประชาชนทางภาคใต้ติดต่อกันมาถึง ๑๕ ปี ได้เดินทางกลับมาทางภาคอีสาน และได้แวะเข้าไปเยี่ยมเยียนพระอาจารย์ฝั้น ที่พรรณานิคมด้วย วันหนึ่งท่านได้เดินขึ้นไปบนถ้ำขาม พอเห็นสภาพบนถ้ำขามเข้าแล้วท่านก็ชอบใจ จึงได้พักวิเวกและจำพรรษาอยู่บนนั้น ปรากฏว่าในระหว่างพรรษาท่านสามารถบำเพ็ญความเพียรอย่างเต็มที่ เพราะพระภิกษุสามเณรที่ร่วมพรรษาด้วย ล้วนเป็นสานุศิษย์ของพระอาจารย์ฝั้น แต่ละรูปได้รับการอบรมจากพระอาจารย์ฝั้นอย่างดีมาแล้วทั้งนั้น จึงไม่เป็นภาระที่ท่านจะต้องหนักใจหรือสืบต่อการอบรมแต่ประการใด ความเหมาะสมในการวิเวกบำเพ็ญความเพียรบนถ้ำขามนั้น พระอาจารย์ขาว อนาลโย ก็พอใจเช่นเดียวกัน กล่าวคือในการพาคณะศิษย์ของท่านขึ้นไปพัก เพื่อเยี่ยมเยียนพระอาจารย์เทสก์ ในวันหนึ่ง ท่านถึงกับเอ่ยปากขอแลกสถานที่กับพระอาจารย์เทสก์ โดยขอให้พระอาจารย์เทสก์ไปอยู่ดูแลวัดถ้ำกลองเพลแทนท่าน ส่วนท่านเองจะขออยู่บนวัดถ้ำขามเอง แต่ไม่สำเร็จ

ในปีต่อ ๆ มา พระอาจารย์ฝั้นยังคงไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดป่าอุดมสมพร วัดป่าภูธรพิทักษ์ และวัดป่าถ้ำขาม แต่ไม่ว่าท่านจะไปพำนักอยู่ที่ใด บรรดาผู้คนจะพากันไปกราบไหว้นมัสการท่านอย่างเนืองแน่น ทุกคนได้รับการต้อนรับจากท่านอย่างเสมอหน้า ไม่เด็กไม่มีผู้ใหญ่ ไม่มีคนมีคนจน ไม่มีเจ้านายหรือบ่าวไพร่ ทุกคนได้รับความเมตตาปรานีเสมอกันหมด ตลอดเวลาที่ผ่านไป ท่านไม่เคยกระตือรือร้นในอันที่จะต้อนรับใครผู้ใดเป็นพิเศษ ทั้งไม่เคยย่อท้อในการเอาธุระแนะนำสั่งสอนอบรมเทศนาแก่ผู้คนทุกหมู่ทุกเหล่า

ท่านเป็นนักสร้างคน คือสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ ท่านได้แก้ไขผู้ประพฤติเป็นพาลเกเรเบียดเบียนข่มเหงรังแก สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นโดยการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ตลอดจนผู้ติดอบายมุขต่าง ๆ ให้บังเกิดความสำนึกตนและละเว้นจากการประพฤติมิชอบเป็นผลสำเร็จมามากต่อมาก

เมตตาบารมีธรรมของท่าน กว้างใหญ่ใหญ่ไพศาลขึ้นทุกที แต่ละปีที่ล่วงไป ผู้คนที่หลั่งไหลไปนมัสการท่านเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีวันจบสิ้น จนกระทั่งในระยะหลัง ๆ บรรดาสานุศิษย์และนายแพทย์ได้กราบวิงวอนท่านครั้งแล้วครั้งเล่า ให้บรรเทาการรับแขกลงเสียบ้าง ท่านจะได้มีเวลาพักผ่อนมากยิ่งขึ้น เพราะนับวันที่ผ่านไปสังขารของท่านได้ทรุดโทรมลงไปมาก ทั้งยังล้มป่วยลงบ่อย ๆ อีกด้วย แต่ท่านไม่ยอมกระทำตาม ซึ่งทุกคนก็ตระหนักดีในเหตุผลว่าเป็นการขัดต่อเมตตาธรรมที่ท่านยึดถือปฏิบัติมาตลอด

ความตรากตรำในการแผ่บารมีธรรมของท่านนี้เอง เป็นมูลเหตุสำคัญให้ท่านเกิดอาพาธอย่างฉับพลัน เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๑๙ จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสกลนคร แต่อาการของท่านไม่ดีขึ้น จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในกรุงเทพมหานครอีกระยะหนึ่ง โดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

รักษาตัวอยู่ได้ระยะหนึ่ง พระอาจารย์ฝั้นก็ขอกลับวัด กลับมาคราวนี้ คณะศิษย์ได้ร่วมกันสร้างกุฏิหลังใหม่ให้ท่านพักอาศัย โดยยกพื้นขึ้นมาบนสระหนองแวง ข้างโบสถ์น้ำและทำรั้วกั้นเพื่อมิให้ผู้คนเข้าไปรบกวนท่านด้วย

แต่การของท่านก็ยังไม่ดีขึ้น มีแต่ทรงกับทรุดอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๒๐ ได้เกิดอาการโรคแทรกซ้อนขึ้นอย่างรุนแรง และกะทันหัน ท่านจึงต้องทิ้งขันธ์ธาตุของท่านไปด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา ๑๙.๕๐ นา. ของวันเดียวกัน

ข่าวมรณภาพแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว สานุศิษย์และญาติโยมทั้งหลายต่างหลั่งไหลไปคารวะศพของท่าน แต่ละคนพบกันด้วยสีหน้าอันหม่นหมอง หลายต่อหลายคนบรรยายความรู้สึกในขณะนั้นด้วยน้ำตา เพราะไม่ทราบจะบรรยายถึงความเศร้าเสียใจให้สมบูรณ์ดีไปกว่านั้นได้อย่างไร
 
ณ บัดนี้ พระภิกษุผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้ารูปหนึ่ง ..... พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รู้แจ้งเห็นจริงในพระสัทธรรม ได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ ละสังขารขันธ์พ้นโลกดับสูญไปแล้ว

จะเหลืออยู่ก็แต่ร่องรอยแห่งเมตตาบารมีธรรมอันสูงส่งของท่าน ซึ่งจะจารึกอยู่ในความทรงจำของบรรดาสานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปอย่างไม่มีวันลืมเลือน

ที่มา : ประตูสู่ธรรม

บันทึกการเข้า

todsapononline
คนรักเสียว
*

พลังน้ำใจ: 17
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 194



ดูรายละเอียด
« ตอบ #62 เมื่อ: 19 มีนาคม 2011, 16:27:34 »

อนุโมธนาครับ

สาธุ
บันทึกการเข้า

todsapononline
คนรักเสียว
*

พลังน้ำใจ: 17
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 194



ดูรายละเอียด
« ตอบ #63 เมื่อ: 07 เมษายน 2011, 17:51:37 »

8.หลวงปู่แหวน สุจิณโณ


ประวัติหลวงปู่แหวน สุจิณโณ

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เดิมชื่อ ญาณ หรือ ยาน รามศิริ เกิดวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2430 วันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ ปีกุน ณ บ้านนาโป่ง บ้างก็ว่า บ้านหนองบอน ตำบลหนองใน (ปัจจุบัน เป็น ตำบลนาโป่ง) อำเภอเมือง จังหวัดเลย

ท่านเกิดในตระกูลช่างตีเหล็ก เป็นบุตรคนที่ 2 (คนสุดท้อง) ของ นายใส หรือ สาย กับ นางแก้ว รามศิริ มีพี่สาวร่วมท้องเดียวกัน 1 คน

เมื่อหลวงปู่อายุประมาณ 5 ขวบ พอจำความได้บ้างว่า ก่อนที่มารดาจะเสียชีวิต ได้เรียกไปสั่งเสียว่า "ลูกเอ๋ย แม่ยินดีต่อลูก สมบัติใด ๆ ในโลกนี้ จะเป็นกี่ล้านกี่โกฏก็ตาม แม่ก็ไม่ยินดี และแม่จะยินดีมาก ถ้าลูกจะบวชให้แม่จนตายในผ้าเหลือง ไม่ต้องสึก ออกมามีเมีย นะลูกนะ" หลัง จากนั้นมารดาได้ถึงแก่กรรมลง ท่านจึงอยู่ในความดูแลของตากับยายขุนแก้ว

อนึ่ง ยายของหลวงปู่ได้ฝันว่า เห็นหลานชายไปนั่งไปนอนอยู่ในดงขมิ้นจนเนื้อตัวเหลืองอร่ามน่าชม จึงได้มาร้องขอให้บวชเช่นเดียวกัน ท่านจึงรับปาก แล้วบวชพร้อมกับหลานยายอีกคน หนึ่ง ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และมีศักดิ์เป็นน้า ยายได้นำหลานทั้ง 2 คน ไปถวายตัวต่อ พระอุปัชฌาย์ที่ วัดโพธิ์ชัย (มหานิกาย) ในหมู่บ้านนาโป่ง เพื่อฝึกหัดขานนาค ทำการบรรพชาเป็น สามเณรต่อไป

ด้วยคำพูดของแม่ในครั้งนั้น เป็นเหมือนพรสวรรค์คอยเตือนสติอยู่ตลอดเวลา มันเป็นคำสั่ง ที่ก้องอยู่ในความทรงจำมิรู้เลือน จนในที่สุดท่านก็ได้บวชตามความประสงค์ของมารดาและใช้ชีวิต อยู่ในผ้าเหลืองจนตลอดอายุขัย

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

หลวงปู่ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. 2439 มีอายุได้ 9 ปี ที่วัดโพธิ์ชัย บ้าน นาโป่ง ตำบลนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลย มีพระอาจารย์คำมา เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระ อาจารย์อ้วน เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย เป็นพระพี่เลี้ยง

เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น แหวน อยู่จำพรรษาที่วัดโพธิ์ชัยนั่น เอง พอเข้าพรรษาได้ประมาณ 2 เดือน สามเณรผู้มีศักดิ์เป็นน้าที่บวชพร้อมกันเกิดอาพาธหนัก ถึงแก่มรณภาพไป ทำให้ท่านสะเทือนใจมาก

เนื่องจากวัดโพธิ์ชัยไม่มีการศึกษาเล่าเรียนเพราะขาดครูสอน ท่านจึงอยู่ตามสบายคือ สวดมนต์ไหว้พระบ้างเล่นบ้างตามประสาเด็ก ต่อมาได้ถูกส่งไปเรียนมูลกัจจายน์ ที่ วัดสร้างก่อ อำเภอหัวสะพาน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในสมัยนั้น จังหวัดอุบลราชธานีมีสำนักเรียน ที่มีชื่อเสียง มีครูอาจารย์สอนกันเป็นหลักเป็นฐานหลายแห่งเช่น สำนักเรียนบ้านไผ่ใหญ่ บ้านเค็งใหญ่ บ้านหนองหลัก บ้านสร้างก่อ ทั่วอีสาน 15 จังหวัด (ในสมัยนั้น) ใครต้องการศึกษาหาความรู้ ต้องมุ่งหน้า ไปเรียนมูลกัจจายน์ ตามสำนักดังกล่าว ผู้เรียนจบหลักสูตร ได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ เพราะเป็นหลักสูตรที่เรียนยากมีผู้เรียนจบกันน้อยมาก ภายหลังสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่ ดังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้การเรียนมูลกัจจายน์ถูกลืมเลือน

ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนที่สำนักนี้หลายปี จนอายุครบบวชพระ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายมหานิกายที่ วัดสร้างก่อนอก อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระอาจารย์แว่น เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2451

ในระยะที่เรียนหนังสืออยู่นั้น ท่านเกิดความว้าวุ่นใจเพราะ ท่านอาจารย์อ้อน อาจารย์เอี่ยม ครูผู้สอนหนังสือเกิดอาพาธ ด้วยโรค นอนไม่หลับ ท่านจึงแนะนำให้ลาสิกขาบท เผื่อโรคอาจจะหายได้ หายแล้วหากยังอาลัยในสมณเพศ เมื่อได้โอกาสก็ให้กลับมาบวชใหม่อีก ท่านอาจารย์ทำตาม ปรากฏ ว่าโรคหายดี แต่ต่อมาพระผู้เป็นอาจารย์สอนหนังสือ คือ อาจารย์ชม อาจาาย์ชาลี และท่านอื่น ๆ ลาสิกขา ไปมีครอบครัวกันหมดสำนักเรียนจึงต้องหยุดชงักลง

ในที่สุด ท่านจึงเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า บรรดาครูอาจารย์เหล่านั้น สึกออกไปล้วนเพราะ อำนาจของกามทั้งสิ้น จึงระลึกนึกถึง คำเตือนของแม่และยาย และเกิดความคิดขึ้นมาว่าการออกปฏิบัติ เป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้บวชอยู่ได้ตลอดชีวิต เหมือนกับครูบา อาจารย์ทั้งหลายที่ได้ออกไป ปฏิบัติอยู่กันตามป่าเขา ไม่อาลัยอาวรณ์อยู่กับหมู่คณะ จึงได้ตัดสินใจไปหาอาจารย์ ที่เมืองสกลนคร

ท่านได้ตั้งสัจจาธิษฐาน ขออุทิศชีวิตพรหมจรรย์แด่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หลัง จากตั้งจิตอธิษฐานแล้ว ท่านมีความรู้สึก ปลอดโปร่ง เบากายเบาใจ อยู่มา 2-3 วัน โยมอุปัฏฐาก ได้มาบอกว่า พระอาจารย์จวง วัดธาตุเทิง อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ได้ไปกราบ ญาคูมั่น พึ่งกลับมา ท่านจึงได้ไปนมัสการพระอาจารย์จวง เพื่อขอทราบที่อยู่ของ หลวงปู่มั่น ด้วยรู้สึกศรัทธา ในกิตติศัพท์ ความเก่งกล้าสามารถของหลวงปู่มั่นยิ่งนัก

จากนั้น ท่านก็ได้ออกธุดงค์มุ่งสู่สำนักของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต โดยผ่านม่วงสามสิบ คำเขื่อนแก้ว ยโสธร เลิงนกทา มุกดาหาร คำชะอี นาแก สกลนคร พรรณานิคม สว่างแดนดิน หนองหาน อุดรธานี บ้านผือ ซึ่งนับเป็นการเดินทางไกล และยาวนานเป็นครั้งแรก จนได้เข้าพบ หลวงปู่มั่น ที่ดงมะไฟ บ้านค้อ

คำแรกที่หลวงปู่มั่นสั่งสอนก็คือ "ต่อไปนี้ให้ภาวนา ความรู้ที่เรียนมา ให้เอาใส่ตู้ไว้ก่อน" ซึ่งทำให้ท่านรู้สึกยินดีมาก เพราะได้บรรลุ สิ่งที่ตั้งใจ

หลังจากอยู่กับหลวงปู่มั่นได้ 4 วัน พี่เขยและน้าเขย ก็มาตามให้กลับไปเยี่ยมโยมพ่อ ที่ ไม่ได้พบกันมานาน 10 ปี จึงเข้าไปกราบลา หลวงปู่มั่น และได้รับคำเตือนว่า "ไปแล้วให้ รีบกลับมา อย่าอยู่นาน ประเดี๋ยวจะเสียท่าเขา ถูกเขามัดไว้แล้วจะดิ้นไม่หลุด"

ท่านได้กลับไปเยี่ยมบ้านในปี พ.ศ.2461 เป็นที่นับถือศรัทธาของประชาชน ในแถบบ้านเกิดมาก หลั่งไหลกันมากราบอย่างไม่ขาดสาย จนทำให้พักผ่อนไม่พอ และล้มป่วยลงต้องพักรักษาตัว อยู่หนึ่งเดือนเต็ม ด้วยจิตที่ระลึกถึงคำสั่งของพระอาจารย์ว่า "อย่าอยู่นานให้รีบกลับ มาภาวนา" กับคำสั่งเสียของแม่ว่า "แม่ยินดีมากถ้าลูกจะบวชให้แม่ แล้วก็ให้ตายกับผ้าเหลือง" ทำให้ท่านตัดสินใจ รีบเดินทางกลับ ไปอยู่รับการอบรมภาวนาต่อ แล้วจึงได้แยกไปหาที่วิเวก บำเพ็ญสมาธิภาวนา ตามความเหมาะสมกับจิตของตน เมื่อถึงวันอุโบสถ จึงได้ถือโอกาสเข้า นมัสการถามปัญหาข้อข้องใจ ในการปฏิบัติจากหลวงปู่มั่น จนเป็นที่เข้าใจแล้ว จึงกลับสู่ที่ปฏิบัติ ของตนดังเดิม โดยยึดมั่นในคำเตือนของหลวงปู่มั่นว่า "ให้ตั้งใจภาวนา อย่าได้ประมาท ให้มี สติอยู่ทุกเมื่อ จงอย่าเห็นแก่การพักผ่อนหลับนอนให้มาก"

ในระยะแรกออกปฏิบัตินั้น ท่านไม่ได้ร่วมทำสังฆกรรม ฟังการสวดปาติโมกข์ เพราะ ยังไม่ได้ญัตติเป็นธรรมยุต พระมหานิกาย ที่ได้รับการอบรม จากท่านหลวงปู่มั่นครั้งนั้น มีหลายรูป เมื่ออยู่ไปนาน ๆ ได้เห็นความไม่สะดวก ในการประกอบสังฆกรรมดังกล่าว จึงไปกราบขออนุญาตให้ญัตติเป็นธรรมยุต ซึ่งบางรูปก็ได้รับอนุญาต บางรูปก็ไม่ได้รับอนุญาต โดยหลวงปู่มั่น ให้เหตุผลว่า "ถ้าพากันมา ญัตติเป็นพระธรรมยุตเสียหมดแล้ว ฝ่ายมหานิกายจะไม่มีใครมาแนะ นำในการปฏิบัติ มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกาย แต่ขึ้นอยู่กับการ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำสั่งสอนไว้แล้ว ละในสิ่งที่ควรเว้น เจริญในสิ่งที่ควรเจริญ นั่น แหละ คือ ทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพาน"

ประมาณ พ .ศ.2464 ท่านได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อพำนักและศึกษาธรรม กับ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ซึ่งหลวงปู่มั่นยกย่องอยู่เสมอ ว่าเชี่ยวชาญทั้งทางการเทศน์ และการปฏิบัติธรรม

หลังจากที่ท่านได้รับฟังธรรม และเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย พม่า และเชียงตุง จากท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ แล้ว ก็ได้จาริกไปพม่า อินเดีย โดยผ่านทาง แม่ฮ่อง สอน จังหวัดตาก ข้ามแม่น้ำเมย ขึ้นฝั่งพม่าต่อไปยังขลุกขลิก มะละแหม่ง ข้ามฟากไปถึง เมาะตะมะ ขึ้นไปพักที่ดอยศรีกุตระ กลับมามะละแหม่ง แล้วโดยสารเรือไปเมืองกัลกัตตา ประเทศ อินเดีย แล้วต่อรถไฟไปเมืองพาราณสี เที่ยวนมัสการปูชนียสถานต่าง ๆ แล้วจึงกลับโดยเส้นทางเดิม ถึงฝั่งไทยที่อำเภอแม่สอด เดินเที่ยวอำเภอสามเงา

ปีต่อมา เดือนตุลาคม ท่านได้จาริกธุดงค์ไปเชียงตุง และ เชียงรุ้ง ในเขตพม่า โดยออก เดินทางไปด่านอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผ่านหมู่บ้านชาวเขา พักตามป่าเขา จาริกผ่าน เชียงตุง แล้วต่อไปทางเหนือ อันเป็นถิ่นชาวเขา เช่น จีนฮ่อ ซึ่งอยู่ตามเมืองแสนทวี ฝีฝ่า หนองแส บางเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง พอฝนตกชุกจวนเข้าพรรษา ก็กลับเข้าเขตไทย นับได้ว่า ท่านได้ธุดงค์จาริกไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่งในและนอกประเทศ ส่วนใหญ่จะพำนักอยู่ในเขต จังหวัดอุบลฯ อุดรฯ และตั้งใจจะไปให้ถึงสิบสองปันนา สิบสองจุไท แต่ทหารฝรั่งเศสห้ามเอาไว้ จึงไปถึง วัดใต้หลวงพระบาง แล้วก็กลับพร้อมกับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

ทางภาคเหนือ ท่านได้มุ่งเดินทางไป ค่ำไหนนอนนั่น จากอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลยออกไป อำเภอด่านซ้าย ผ่านอำเภอน้ำปาด อำเภอนครไทย อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ตัดไปอำเภอ นาน้อย แพร่ หมู่บ้านชาวเย้า อำเภอสูงเม่น อำเภอเด่นชัย ลำปาง แล้วต่อไปยังเชียงใหม่ เที่ยวดูภูมิประเทศโดยรอบเขาดอยสุเทพ

ท่านได้รับความเมตตาจาก ท่านเจ้าคุณพระอุปาลีคุณูปมาจารย์ ด้วยดีตลอดมา ประมาณ ปี พ.ศ.2470 ท่านเจ้าคุณเห็นว่า หลวงปู่แหวน เป็นผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ มีวิริยะอุตสาหะปรารภ ความเพียรสม่ำเสมอไม่ท้อถอย มีข้อวัตรปฏิบัติดี มีอัธยาศัยไมตรีไม่ขึ้นลง คุ้นเคยกันมานาน เห็น สมควรจะได้ญัตติเสีย หลวงปู่แหวนจึงตัดสินในเป็นพระธรรมยุต ที่พัทธสีมา วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ มี พระนพีสิ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ต่อมา หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ซึ่งเคยเป็นสหธรรมิกร่วมธุดงค์กัน ก็ ได้ญัตติเป็นธรรมยุตเหมือนกัน

ในระหว่างที่จาริกแสวงหาวิเวกอยู่ทางภาคเหนือนั้น ท่านได้พบกับหลวงปู่ขาว อนาลโย และได้แยกย้ายกันจำพรรษา ตามป่าเขา ท่านเคยได้แยกเดินทางทุ่งบวกข้าว จนถึงป่าเมี่ยงขุนปั๋ง พอออกพรรษา หลวงปู่มั่น พระอาจารย์พร สุมโน ได้มาสมทบที่ป่าเมี่ยงขุนปั๋ง ขณะนั้น พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี พระอาจารย์อ่อน ญาณสิร ิมาร่วมสมทบอีก เมื่อทุกท่านได้รับโอวาทจาก หลวงปู่มั่นแล้ว ต่างก็แยกย้าย กันไป หลวงปู่แหวนพร้อมหลวงปู่ขาว พระอาจารย์พร ไปที่ดอน มะโน หรือ ดอยน้ำมัว ส่วนหลวงปู่มั่น อยู่ที่กุฏิชั่วคราวที่ชาวบ้านสร้างถวาย ที่ป่าเมี่ยบขุนปั๋งนั่นเอง

ภายหลังหลวงปู่มั่น เดินทางกลับอีสานแล้ว หลวงปู่แหวนยังคงจาริกแสวงวิเวกบำเพ็ญ ธรรมอยู่ป่าเมี่ยงแม่สาย หลวงปู่เล่าว่า อากาศทางภาคเหนือถูกแก่ธาตุขันธ์ดี ฉันอาหารได้มาก ไม่มีอาการอึดอัด ง่วงซึม เวลาภาวนาจิตก็รวมลงสู่ฐานสมาธิได้เร็ว นับว่าเป็นสัปปายะ

ประมาณปี พ.ศ. 2474 ขณะที่หลวงปู่แหวนปฏิบัติธรรมอยู่ที่เชียงใหม่ ได้ทราบข่าวว่า ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ประสบอุบัติเหตุ ขณะขึ้นธรรมาสน์เพื่อแสดงธรรมถึงขาหัก จึงเดินทางจาก เชียงใหม่มากรุงเทพฯ และแวะกราบเรียนให้หลวงปู่มั่นทราบที่อุตรดิตถ์ แล้วเดินทางโดยรถไฟ ถึงโกรกพระ นครสวรรค์ ลงเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามาถึงวัดคุ้งสำเภา พักค้างคืนหนึ่ง แล้วลง เรือล่องมา ถึงกรุงเทพฯ เฝ้าพยาบาลท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ นานหนึ่งเดือน จึงกราบลาไปจำพรรษา ที่เชียงใหม่

ปี พ.ศ.2498 ท่านจำพรรษาที่ วัดบ้านปง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เกิดอาพาธ แผลที่ขาอักเสบ ทรมานมาก ท่านจำพรรษา อยู่รูปเดียว ชาวบ้านไม่เอาใจใส่ ได้ท่านพระอาจารย์ หนู สุจิตฺโต วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พาหมอมาจี้ มาทำการผ่าตัด โดยไม่ต้องฉีดยาชา ใช้มีดผ่าตัดเพียงเล่มเดียว ท่านมีความอดทนให้กระทำจนสำเร็จและหายได้ในที่สุด

อีกหลายปีต่อมา พระอาจารย์หนูเห็นว่า หลวงปู่แก่มากแล้ว ไม่มีผู้อุปัฏฐาก จึงได้ชักชวน ญาติโยมไปนิมนต์ให้ ท่านมาจำพรรษาที่ วัดดอยแม่ปั๋ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 ในฐานะพระผู้เฒ่า ทำหน้าที่ปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ไม่ต้องเกี่ยงข้องกับภาระหน้าที่อื่นใด และท่านก็ได้ตั้งสัจจะว่า จะไม่รับนิมนต์ ไม่ขึ้นรถ ไม่ลงเรือ แม้ที่สุดจะเกิดอาพาธหนักเพียงใด ก็จะไม่ยอมเข้านอนโรงพยาบาล ถึงธาตุขันธ์ จะทรงอยู่ต่อไปไม่ได้ ก็จะให้สิ้นไปในป่าอันเป็นที่อยู่ แล้วท่านก็ได้ปฏิบัติตามที่ตั้งใจไว้ได้

นับตั้งแต่ท่านขึ้นไปภาคเหนือแล้ว ท่านก็ไม่เคยไปจำพรรษาที่ภาคอื่นอีกเลย ท่านเคยอยู่บน ดอยสูงกับชาวเขาเกือบทุกเผ่า อยู่ในป่าเขาภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ส่วนภาคเหนือตอนล่าง เช่น แพร่ น่าน ตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ท่าน เคยจาริกไปครั้งคราว จึงนับได้ว่า วัดดอยแม่ปั๋ง เป็นสถานที่ซึ่ง หลวงปู่อยู่จำพรรษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 จวบจนมรณภาพ

หลวงปู่แหวน มีโรคประจำตัวคือ เป็นแผลเรื้อรังที่ก้นกบยาวประมาณ 1 ซม. มีอาการคัน ถ้าอักเสบก็จะเจ็บปวดมาก และอีกโรคหนึ่ง คือ เป็นต้อกระจกนัยน์ตาด้านซ้าย เป็นต้อหินนัยน์ตาด้าน ขวา หมอได้เข้าไปรักษาเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2518 ซึ่งรักษาแล้ว สุขภาพก็ยังแข็งแรงตามวัย แต่ ต่อมาปี 2519 ร่างกายเริ่มซูบผอม อ่อนเพลีย ฉันอาหารได้น้อย ขาทั้ง 2 เป็นตะคริวบ่อย ต่อมา 2520 สุขภาพทรุด ค่อนข้างซูบเหนื่อยอ่อน เวียนศีรษะถึงกับเซล้มลง และประสบอุบัติเหตุขณะครอง ผ้าจีวรในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2522 ซึ่งเป็นวันที่ทางวัดจัดงานผูกพัทธสีมา ส่งผลให้เจ็บบั้นเอวและ กระดูดสันหลัง ลุกไม่ได้ ต้องนอนอยู่กับที่ รักษาอยู่เดือนหนึ่ง ก็หายเป็นปกติ แต่เนื่องจากหลวงปู่อายุ มากแล้ว จึงมีอาการอาพาธมาโดยตลอด คณะแพทย์ก็คอยให้การรักษาด้วยดีเช่นกัน จนกระทั่งใน วัน อังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2528 เวลา 21.53 น. การหายใจครั้งสุดท้ายก็มาถึง หลวงปู่ท่านได้ละร่าง อันเป็นขันธวิบากไปด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ 98 ปี

ธรรมโอวาท

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ได้แสดงธรรมโอวาทหลายเรื่อง เช่นเรื่อง ของเก่าปกปิดความจริง ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า

การพิจารณาต้องน้อมเข้ามาสู่ภายใน พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว มัน ก็วางเอง

คูบาญาปู่มั่น ท่านว่า "เหตุก็ของเก่านี้แหละ แต่ไม่รู้ว่าของเก่า" ของเก่านี่แหละมันบังของ จริงอยู่นี่ มันจึงไม่รู้ ถ้ารู้ว่าเป็นของเก่า มันก็ไม่ต้องไปคุย มีแต่ของเก่าทั้งนั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ของเก่า เวลามาปฏิบัติภาวนา ก็พิจารณาอันนี้แหละ ให้มันรู้แจ้งเห็นจริง ให้มันรู้แจ้งออกมาจาก ภายใน มันจึงไปนิพพานได้ นิพพานมันหมักอยู่ในของสกปรกนี่ มันจึงไม่เห็น พลิกของสกปรกออก ดูให้เห็นแจ้ง

นักปราชญ์ท่านไม่ละความเพียร เอาอยู่อย่างนั้นแหละ เอาจนรู้จริงรู้แจ้ง ทีนี้มันไม่มาเล่น กับก้อนสกปรกนี้อีก พิจารณาไป พิจารณาเอาให้นิพพานใสอยู่ในภายในนี่ ให้มันอ้อ นี่เอง ถ้ามันไม่ อ้อหนา เอาให้มันถึงอ้อ จึงใช้ได้

ครั้นถึงอ้อแล้วสติก็ดี ถ้ามันยังไม่ถึงแล้ว เต็มที่สังขารตัวนี้ พิจารณาให้มันรู้แจ้งเห็นจริงใน ของสกปรกเหล่านี้แหละ ครั้นรู้แจ้งเข้า รู้แจ้งเข้า มันก็เป็นผู้รู้พระนิพพานเท่านั้น

จำหลักให้แม่น ๆ มันไม่ไปที่ไหนหละ พระนิพพาน ครั้นเห็นนิพพานได้แล้ว มันจึงเบื่อโลก เวลาทำก็เอาอยู่นี่แหละ ใครจะว่าไปที่ไหน ก็ตามเขา ละอันนี่แหละทำความเบื่อหน่ายกับอันนี้แหละ ทั้งก้อนนี่แหละ นักปฏิบัติต้องพิจารณาอยู่นี่แหละ ชี้เข้าไปที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ให้พิจารณา กาย พิจารณาใจ ให้เห็นให้เกิดความเบื่อหน่าย

การต่อสู้กามกิเลส เป็นสงครามอันยิ่งใหญ่ กามกิเลสนี้ร้ายนัก มันมาทุกทิศทุกทาง หาก พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง ก็ถอนได้

กามกิเลสนี้แหละ เป็นบ่อเกิดแห่งการฆ่ากันตาย ชิงดีชิงเด่น กิเลสตัวเดียว ทำให้มีการต่อสู้ แย่งชิงกัน ทั้งความรักความชัง จะเกิดขึ้นในจิตใจก็เพราะกาม

นักปฏิบัติต้องเอาให้หนักกว่าธรรมดา ทำใจของตนให้แน่วแน่ มันจะไปสงสัยที่ไหน ก็ของเก่า ปรุงแต่งขึ้นเป็นความพอใจไม่พอใจ มันเกิดมันดับอยู่นี่ ไม่รู้เท่าทันมัน ถ้ารู้เท่า ทันมัน ก็ดับไป ถ้า จี้มันอยู่อย่างนี้ มันก็ค่อยลดกำลังไป ตัดอดีต อนาคตลงให้หมด จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้ในปัจจุบัน ละในปัจจุบัน ทำในปัจจุบัน แจ้งอยู่ในปัจจุบัน

ปัจฉิมบท

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นพระมหาเถระ ซึ่งได้ดำเนินชีวิตของท่านอยู่ในเพศของบรรพชิต มาตั้งแต่อายุเยาว์วัย เป็นพระนักศึกษา และนักปฏิบัติธรรมมาโดยตลอด เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศีลลา จารวัตร ทั้งที่เมื่อยังเป็นพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย และ เป็นฝ่ายธรรมยุตแล้ว

ดังที่ หลวงปู่มั่น เคยแสดงเหตุผลว่า "มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกาย" หลวงปู่แหวน เป็นผู้เปี่ยมด้วยเมตตาบารมีธรรม เป็นปูชนียบุคคล ชาวพุทธให้ความ เคารพสักการะอย่างมาก เมตตาบารมีธรรมของท่าน ยังผลให้กุลบุตรกุลธิดาใฝ่ใจในการปฏิบัติธรรม สืบสร้าง ความมั่นคงให้แก่พระศาสนา ทำให้เกิดมีการก่อสร้าง สิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น โรงพยาบาล วัด อาคาร ท่านได้อำนวย คุณประโยชน์ต่าง ๆ แก่สังคมสืบมาจนถึงปัจจุบัน ชีวิตร่างกายของท่านได้ดับสลายไป แต่คุณงามความดีของท่าน ยังตรึงแน่นอยู่ใน จิตสำนึกของพุทธศาสนิกชน อย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย เพราะท่านเป็นพระผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบในฐานะ พุทธชิโนรส เป็นเนื้อนาบุญ ของผู้ต้องการบุญในโลกนี้


ที่มา : ประตูสู่ธรรม

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 เมษายน 2011, 09:10:34 โดย todsapononline » บันทึกการเข้า

todsapononline
คนรักเสียว
*

พลังน้ำใจ: 17
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 194



ดูรายละเอียด
« ตอบ #64 เมื่อ: 07 พฤษภาคม 2011, 13:53:13 »


9.หลวงปู่ขาว อนาลโย


ประวัติหลวงปู่ขาว อนาลโย

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัด หนองบัวลำภู นามเดิมชื่อ ขาว โคระถา เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม 2431 ที่บ้านชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ

โยมบิดาชื่อ พั่ว โยมมารดาชื่อ รอด โคระถา มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 7 คน ท่านเป็นคนที่ 4 อาชีพหลักของครอบครัว คือ ทำนาและค้าขาย เมื่อท่านอายุได้ 20 ปี บิดามารดาได้จัดให้มีครอบครัว ภรรยาของท่านชื่อ นางมี และได้มีบุตรด้วยกัน 3 คน ซึ่งต่อมาได้แยกทางกัน

ท่านเป็นผู้มีนิสัยเด็ดเดี่ยวเอาจริงเอาจังมาก ประกอบกบความมีศรัทธาต่อหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้คนทำจริง ในสิ่งที่ควรทำ เมื่อท่านได้บวชในพระพุทธศาสนา ท่านจึงรู้สึกซาบซึ้งในหลักธรรมมากยิ่งขึ้นโดยลำดับ

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

ชีวิตสมณะของท่าน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 เมื่อท่านอายุได้ 31 ปี โดยอุปสมบทที่วัดโพธิ์ศรี บ้านบ่อชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีท่านพระครูพุฒิศักดิ์เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์บุญจันทร์ เป็นพระกรราวาจาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้จำพรรษาที่วัดโพธิ์ศรี เป็นเวลา 6 พรรษา เนื่องจากท่านได้บังเกิดศรัทธาในปฏิปทาของพระอาจารย์มั่น หลวงปู่จึงได้ญัตติเป็นพระธรรมยุติ เมื่อปี พ.ศ.2468 อายุได้ 37 ปี ณ พัทธสีมา วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วได้จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา 8 ปี

จากนั้นได้เดินธุดงค์ตาม ท่านพระอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ไปปฏิบัติธรรมในสถานที่ต่างๆ ท่านออกเดินทางทุกปี และได้สมบุกสมบันไปแทบทุกภาคของประเทศ

นอกจากนี้ ท่านยังได้เคยเดินธุดงค์ร่วมกับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นเวลารวมกันหลายปีอีกด้วย

ท่านได้สร้างบารมีอยู่ในป่าเขาเป็นเวลายาวนาน มีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าทั้งหลาย เช่น สิง ค่าง ช้าง เสือ เวลาท่านนึกถึงอะไร สิ่งนั้นมักจะมา ตามความรำพึงนึกคิดเสมอ เช่น นึกถึงช้าง ว่าหายหน้าไปไหนนานไม่ผ่านมาทางนี้เลย พอตกกลางคืนดึกๆ ช้างก็จะมาหาจริงๆ และ เดินตรงมายัง กุฏิที่ท่านพักอยู่ พอให้ท่านทราบว่าเขามาหาแล้ว ช้างก็จะกลับเข้าป่าไป เวลาที่ท่านนึกถึงเสือ ก็เช่นกัน นึกถึงตอนกลางวัน ตกกลางคืนเสือก็มาเพ่นพ่าน ภายในวัดบริเวณที่ท่านพักอยู่

คุณหมออวย เกตุสิงห์ เขียนไว้ในประวัติอาพาธ ซึ่งเป็นภาคผนวกของหนังสืออนาลโยวาท ว่า เวลาท่านไม่สบายอยู่ในป่าเขา มักจะไม่ใช้หยูกยาอะไรเลย จะใช้แต่ธรรมโอสถ ซึ่งได้ผลทั้งทางร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน ท่านเคยระงับไข้ด้วยวิธีภาวนามาหลายครั้ง จนเป็นที่มั่นใจต่อการพิจารณาเวลาไม่สบาย

 ท่านพระอาจารย์หลวงตามหาบัว เล่าถึง หลวงปู่ขาว ในหนังสือ "ปฏิปทาของพระธุดงค์กรรมฐานสายพระอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต" ว่าหลวงปู่ขาว ได้บรรลุธรรมชั้นสุดยอดในราวพรรษาที่ 16-17 ในสถานที่ซึ่งมีนามว่าโรงขอด แห่งอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เขียนเล่าไว้ว่า

"เย็นวันหนึ่ง เมื่อปัดกวาดเสร็จ หลวงปู่ขาว ออกจากที่พักไปสรงน้ำ ได้เห็นข้าวในไร่ชาวเขา กำลังสุกเหลืองอร่าม ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาในขณะนั้นว่า ข้าวมันงอกขึ้นมา เพราะมีอะไรเป็นเชื้อพาให้เกิด ใจที่พาให้เกิดตายอยู่ไม่หยุด ก็น่าจะมีอะไรเป็นเชื้ออยู่ภายในเช่นเดียวกันกับเมล็ดข้าว เชื้อนั้น ถ้าไม่ถูกทำลายเสียที่ใจ ให้สิ้นไป จะต้องพาให้เกิดตายอยู่ไม่หยุด ก็แล้วอะไรเป็นเชื้อของใจเล่า ถ้าไม่ใช่กิเลสอวิชชา ตัณหาอุปาทาน ท่านคิดทบทวนไปมา โดยถืออวิชชา เป็นเป้าหมาย แห่งการวิพากษ์วิจารณ์ พิจารณาย้อนหน้าถอยหลัง อนุโลมปฏิโลมด้วยความสนใจอยากรู้ตัวจริงแห่งอวิชชา นับแต่หัวค่ำจนดึก ไม่ลดละการพิจารณาระหว่างอวิชชา กับ ใจ จวนสว่างจึงตัดสินใจกันลงได้ด้วยปัญญา อวิชชาขาดกระเด็นออกจากใจไม่มีอะไรเหลือ

การพิจารณาข้าว ก็มายุติกันที่ข้าวสุก หมดการงอกอีกต่อไป การพิจารณาจิต ก็มาหยุดกันที่ อวิชชาดับ กลายเป็นจิตสุกขึ้นมา เช่นเดียวกับ ข้าวสุก จิตหมดการก่อกำเนิดเกิดในภพต่างๆอย่างประจักษ์ใจ สิ่งที่เหลือให้ชมอย่างสมใจ คือ ความบริสุทธิ์แห่งจิตล้วน ๆ ในกระท่อมกลางเขามีชาวป่าเป็นอุปัฏฐากดูแล

ขณะที่จิตผ่านดงหนาป่ากิเลสวัฏฏ์ไปได้ แล้วเกิดความอัศจรรย์อยู่คนเดียวตอนสว่างพระอาทิตย์ก็เริ่มสว่างบนฟ้า ใจก็เริ่มสว่างจากอวิชชา ขึ้นสู่ธรรมอัศจรรย์ ถึงวิมุตติหลุดพ้นในเวลาเดียวกันกับพระอาทิตย์อุทัย ช่างเป็นฤกษ์งามยามวิเศษเสียจริง

ท่านได้ธุดงค์จาริกไปตามถิ่นต่าง ๆ จนในที่สุดก็มาพำนักจำพรรษาอยู่ที่ วัดถ้ำกลองเพลอำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อ พ.ศ.2501 จวบจนมรณภาพ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2526

คุณหมออวย เกตุสิงห์ ได้เล่าเกี่ยวกับปัจฉิมกาลของท่านไว้ในหนังสือ อนาลโยวาท ว่าท่านทุพพลภาพอยู่ถึง 9 ปี แต่สุขภาพจิตยังดี มีนิสัยรื่นเริง ติดตลก ในระยะสามปีสุดท้าย นัยน์ตาของท่านมืดสนิทเพราะต้อแก้วตา หรือ ต้อกระจก หูก็ตึงมาก เพราะหินปูนจับกระดูก แต่ท่านก็มิได้เดือดร้อนใจ และสามารถบอกกำหนด อายุขัยของตนเองได้ว่า จะมรณภาพอายุ 96 ปี ซึ่งก็เป็นจริงดังที่ท่านได้กล่าวไว้

ในวันพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ขาว เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2527 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้น ปรากฏว่า วัดถ้ำกลองเพล ซึ่งมีอาณาบริเวณหลายพันไร่ กลับคับแคบไปถนัดใจ ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลกันมาถวายสักการะสรีระร่างของท่านนับเป็นจำนวนแสนคน นับเป็นประวัติการณ์สูงสุดของประเทศทีเดียว

ธรรมโอวาท

ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนาของท่าน ที่ได้เทศน์โปรดพระเณรและญาติโยม ณ บ้านย่อชะเนง (บ้านเกิดของท่าน) "คนเกิดมาไม่เหมือนกัน เพราะมีความประพฤติที่ต่างกัน ผู้ที่เขาประพฤติดี รักษาศีล มีการให้ทาน มีการสดับรับฟังพระธรรม เขาจึงมีปัญญาดี มีการศึกษาเล่าเรียนดี

การจำแนกสัตว์ให้ดีให้ชั่วต่าง ๆ กัน มันเป็นเพราะกรรม ถ้ามันยังทำกรรมอยู่ ก็ต้องได้รับผลกรรมทั้งกรรมดีกรรมชั่ว มันต้องได้รับผลตอบแทน เหตุนี้ เราจึงควรทำกุศล รักษาศีลให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ แล้วทำสมาธิจะมีความสงบสงัด จิตรวมลงได้ง่าย เพราะมันเย็น มันราบรื่นดีไม่มีลุ่มไม่มีดอน

จงพากันทำไปใน อิริยาบถทั้งสี่ นั่ง นอน ยืน เดิน อะไรก็ได้ แล้วแต่ความถนัด แล้วแต่จริต อันใดมันสะดวกสบายใจ หายใจดี ไม่ขัดข้องฝืดเคือง อันนั้นควรเอาเป็นอารมณ์ของใจ

พุทโธ พุทโธ หมายความว่า ให้ใจยึดเอาพุทโธเป็นอารมณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้จิตออกไปสู่อารมณ์ภายนอก เพราะอารมณ์ภายนอกมันชอบไปจดจ่ออยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความถูกต้องทางกาย หากทุกสิ่งทุกอย่างมันไปจดจ่ออยู่ที่นั่น จิตมันจะไม่รวมลง นี่แหละ เรียกว่า มาร คือ ไม่มีสติ อย่าให้จิตไปจดจ่ออย่างนั้น ให้มาอยู่กับผู้รู้ ให้น้อมเอา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์ จะอยู่ในอิริยาบถใด ก็ให้มีความเพียร

ผู้ที่ภาวนาจิตสงบลงชั่วช้างพับหู งูแลบสิ้น ชั่วไก่ดินน้ำ นี่ อานิสงส์อักโข ให้ตั้งใจทำไป การที่จิตรวมลงไปบางครั้ง มี 3 ขั้นสมาธิ คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

หากรวมลง ขณิกสมาธิ เราบริกรรมไป พุทโธ หรืออะไรก็ตาม จิตสงบไปสบายไปสักหน่อยมันก็ถอนขึ้นมา ก็คิดไปอารมณ์เก่าของมันนี่

ส่วนหากรวมลงไปเป็น อุปจารสมาธิ ก็นานหน่อยกว่าจะถอนขึ้นไปสู่อารมณ์อีกให้ภาวนาไปอย่าหยุดอย่าหย่อน ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องไปนึกคาดหวังอะไร อย่าให้มีความอยาก เพราะมันเป็นตัณหา ตัวขวางกั้นไม่ให้จิตรวม ไม่ต้องไปกำกับว่า อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ การอยากให้จิตรวมลง เหล่านี้แหละเป็นนิวรณ์ตัวร้าย

ให้ปฏิบัติความเพียรไม่หยุดหย่อน เอาเนื้อและเลือด ตลอดจนชีวิตถวายบูชาพระพุทธเจ้าพระธรรม และ พระสงฆ์ เราจะเอาชีวิตจิตใจ ถวายบูชาพระรัตนตรัย ตลอดจนวันตาย นี่ก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา แล้วจิตจะรวมลงอย่างไร เมื่อไร ก็จะเป็นไปเองเมื่อใจเป็นกลาง ปล่อยวาง สงบถูกส่วน"

ปัจฉิมบท

ท่านพระอาจารย์หลวงตามหาบัว ได้พรรณนาถึงเมตตาธรรม และ ตปธรรม ของ หลวงปู่ขาว ไว้ในหนังสือ ปฏิปทาของพระธุดงค์กรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต มีข้อความตอนหนึ่งว่า

"ท่านอาจารย์องค์นี้มี ความเด็ดเดี่ยวมาก การนั่งภาวนาตลอดสว่างท่านทำได้สบายมาก ถ้าไม่เป็นผู้มีใจกล้าหาญ กัดเหล็กกัดเพชรจริง ๆ จะทำไม่ได้ จึงขอชมเชย อนุโมทนากับท่านอย่างถึงใจ เพราะเป็นที่แน่ใจในองค์ท่านร้อยเปอร์เซนต์ว่า เป็นผู้สิ้นภพสิ้นชาติอย่างประจักษ์ใจทั้งที่ยังครองขันธ์อยู่"

ในบทความภาคผนวกตอนหนึ่งของหนังสือ อนาลโยวาท ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งหนึ่งว่า"วันหนึ่ง มีชายแปลกหน้าวัยฉกรรจ์ผู้หนึ่ง ปรากฏกายขึ้นที่วัด ขอเข้านมัสการท่านอาจารย์ พอได้พบก็ตรงเข้าไปกราบถึงที่เท้า แล้วเอ่ยปากขอบพระคุณที่ท่านช่วยเขาให้พ้นจากโทษมหันต์ พร้อมเล่าว่า เขาเป็นทหาร ไปรบที่ประเทศลาว เป็นเวลานาน พอกลับมาบ้าน ก็ได้รู้ว่าภรรยานอกใจ จึงโกรธแค้น เตรียมปืนจะไปยิงทิ้งทั้งคู่ แต่ยังไม่ทันได้กระทำเช่นนั้น เพราะกินเหล้าเมา แล้วหลับฝันไปว่า มีพระแก่องค์หนึ่งมาขอบิณฑบาตความอาฆาตโกรธแค้น และเทศน์ให้ฟังถึงบาปกรรมของการฆ่า จนเขายอมยกโทษ ให้อภัย ละความพยาบาท ได้ถามในฝัน ได้ความว่า พระภิกษุองค์นั้น ชื่อ ขาว มาแต่เมืองอุดรฯ พอตื่นขึ้นจึงออกเดินทางมาเสาะหาท่าน จนได้พบที่วัด เช่นนี้"

หลวงปู่ขาว ท่านกล่าวอนุโมทนา แล้วอบรมต่อไปให้เข้าใจหลักธรรม ตลอดจนผลของการงดเว้นจากการฆ่า ทำให้ชายผู้นั้นซาบซึ้งในรสพระธรรม จนตัดสินใจที่จะอุปสมบทต่อไป

เรื่องนี้ เป็นหลักฐานว่า ความเมตตาของท่านเปี่ยมล้น และครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวางเพียงใด

อนุสรณ์สถานที่ถือว่าสำคัญที่สุดของ หลวงปู่ขาว ก็คือ วัดถ้ำกลองเพล อันเป็นสถานที่ท่านพำนักจำพรรษามาตั้งแต่ พ.ศ.2501 จนกระทั่งมรณภาพ เมื่อ พ.ศ.2526 ท่านดูแลบริเวณวัดซึ่งมีเนื้อที่กว่าพันไร่ ให้เป็นป่าร่มรื่นบนลากสันเขา มีโขดหินขนาดใหญ่มากมาย เป็นเพิงผาธรรมชาติที่งดงาม ด้านหลังเป็นอ่างเก็บน้ำ ชื่อ อ่างอาราม ซึ่งเป็นโครงการชลประทานพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ

จุดเด่นของ วัดถ้ำกลองเพล คือ พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งสร้างเสร็จตั้งแต่ พ.ศ.2531 เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะสวยงาม ควรแก่การศึกษา และเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง"ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ"

ที่มา : ประตูสู่ธรรม
บันทึกการเข้า

หน้า: 1 2 3 [4]   ขึ้นบน
พิมพ์