"เทรนด์ ไมโคร" พบพฤติกรรมการเขียนไวรัสเริ่มเบนเข็มสู่งานพาณิชย์มากขึ้น จากเดิมที่เน้นเอาความสนุกสะใจเป็นหลัก ระดับการโจมตีช่องโหว่ยังคงแรงเหมือนเดิมแต่อันดับความเสี่ยงของโปรแกรมแต่ละค่ายเปลี่ยนไป โดยไมโครซอฟท์เสียแชมป์ไตรมาสแรกให้แอปเปิลไป แต่ก็ทวงตำแหน่งคืนได้ในไตรมาสที่สอง โดยกูเกิลรั้งตำแหน่งอันดับ 2 ของทั้งสองไตรมาส เพราะความแพร่หลายของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ทำให้นักสร้างไวรัสมองเป็นเป้าหมายสำคัญ นายคงศักดิ์ ก่อตระกูล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และผลิตภัณฑ์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เทรนด์ ไมโคร อิงค์ กล่าวถึงแนวโน้มของภัยคุกคามช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา (เมษายน-มิถุนายน 54) ว่าปัญหาอาชญากรไซเบอร์ได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปจากเดิมที่แค่การก่อกวนเพื่อความสะใจ แต่วันนี้เริ่มที่จะเห็นลักษณะของการเขียนไวรัสื่อเพื่อหวังผลทางธุรกิจมากขึ้น โดยล่าสุดพบการว่าจ้่างให้เขียนไวรัส บนค่าจ้างที่แพงพอๆกับค้ายาเสพติด
"ลักษณะการโจมตีเริ่มเน้นโจมตีเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เริ่มต้นจากการโจมตีเว็บไซด์ของโซนีเป็นต้น เทรนด์แบบนี้เริ่มเห็นมาก โจมตีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะในรูปแบบที่มีเป้าหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถระบุจำนวนบริษัทและผู้ใช้ที่อาจได้รับผลกระทบจากอันตรายดังกล่าวในช่วงระยะเวลาก่อนสิ้นปีนี้ได้" ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ จากการรวบรวมเทรนด์แล็บที่มีอยู่ 10 แห่งทั่วโลกที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ข้อมูลที่สรุปได้เกี่ยวกับการโจมตี การละเมิด การใช้ประโยชน์ช่องโหว่ และการหลอกลวงที่ติดอันดับสูงสุด คือการขโมยข้อมูลประจำตัวและข้อมูลสำคัญต่างๆยังคงเป็นปัญหาที่ยังคงมีอยู่เช่นเดิม เช่นกรณีของบริษัท เอพซิลอน (Epsilon) บริษัทการตลาดออนไลน์ซึ่งถูกโจรไฮเทคเจาะระบบเข้าไปขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าขององค์กรยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯมากกว่า 50 แห่งเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภัยคุกคามดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การเปิดดูอีเมล์ผ่านเว็บในที่ทำงานและการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่เป็นโทรจันของผู้ใช้และองค์กรธุรกิจยังคงมีความเสี่ยงเช่นกัน
*** แอปเปิล-ไมโครซอฟท์ แชมป์ถูกโจมตีมากสุด *** ในไตรมาส 1 ปี 54 (มกราคม-มีนาคม) แอปเปิลเริ่มตกเป็นผู้ค้าที่ถูกโจมตีเป็นอันดับสูงสุด 89 ครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แอปเปิลเปิดตัว iPad2 เข้าสู่ตลาด แต่ในไตรมาสที่ 2 แอปเปิลกลับไม่ได้ติด 10 อันดับแรก อย่างไรก็ตาม จำนวนช่องโหว่ในอุปกรณ์พกพา คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตของแอปเปิลที่เคยมีการระบุไว้ในโฆษณาของแอปเปิลเองนั้น เทรนด์ ไมโครขอยืนยันว่ามีจริง ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเริ่มเห็นมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว และเริ่มเห็นมากขึ้นพร้อมกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้
ไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน) แชมป์การถูกโจมตีผ่านช่องโหว่ต่างๆตกเป็นของไมโครซอฟท์เช่นเดิม โดยไมโครซอฟท์ยังคงเป็นผู้ค้าหมายเลขหนึ่งที่เป็นเป้าหมายการโจมตีผ่านช่องโหว่บนสถิติจำนวนการโจมตีทั้งสิ้น 96 ครั้ง ขณะที่กูเกิลและอโดบีครองอันดับสองและสามด้วยจำนวนการโจมตี 65 และ 62 ครั้งตามลำดับ (เป็นแบบนี้ทั้ง 2 ไตรมาส)
ส่วนหนึ่งที่กูเกิลรั้งอันดับสองของการโจมตี เนื่องจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ทั้งบนสมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ที่ใช้กูเกิลโครม รวมถึงแท็บเล็ตด้วยเป็นแนวโน้มที่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว โดยเทรนด์ ไมโครระบุว่าได้ตรวจพบการโจมตีอย่างน้อย 3 ครั้งในช่วงไตรมาส 2 เช่นเดียวกับมัลแวร์แอนดรอยด์ ที่พบก่อนหน้านี้ โดยการโจมตีทั้งสามครั้งเป็นการโจมตีในรูปแอปพลิเคชันลวงหรือการอัปเดทลวง ที่จะล่อให้ผู้ใช้ดาวน์โหลด บนเป้าหมายการโจมตีที่ต่างออกไปจากช่วงก่อนหน้านี้ก็ตาม
ที่สำคัญ การโจมตีเฟซบุ๊กถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการโจมตีที่เริ่มเห็นมากขึ้น โดยเป็นการโจมตีจำนวนมากในรูปของลิงก์อันตรายบนข้อความสแปม ผ่านเครื่องมือที่หลากหลายของเฟซบุ๊ก ทั้งหมดนี้มีความเสี่ยงนำไปสู่การขโมยข้อมูลที่สำคัญ ทั้งหมดนี้ เทรนด์ ไมโครระบุว่าได้เริ่มลงทุนค้นคว้าและวิจัยในภัยคุกคามที่ยังคงเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา เทรนด์ ไมโครได้เข้าร่วมในการตรวจจับเซิร์ฟเวอร์สั่งการและควบคุม (C&C) ที่ชื่อว่า CARBERP ที่ได้ทำการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลจากผู้ใช้ทั่วโลกมาเป็นเวลานานหลายเดือนนับตั้งแต่ต้นปี 2553 และยังมีบทบาทสำคัญในการบล็อก URL ที่เป็นอันตรายตลอดไตรมาสที่สอง ซึ่งทำให้บริษัทติดอันดับผู้นำด้านการรักษาความปลอดภัยของไมโครซอฟท์เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน
ข่าวโดย ผู้จัดการ 