ธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ต สองสามปีให้หลัง "เครือข่ายอินเตอร์เน็ต" เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ธุรกิจต้องอาศัยความรวดเร็วในการค้าขาย เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายต่อลูกค้า นิสิตนักศึกษาต้องการความรู้มากกว่าข้อมูลภายในห้องสมุดและต้องการความบันเทิงจากการสนทนาหาเพื่อนทั่วโลก ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่าตามหัวมุมถนน ริมถนนใหญ่ หน้าสถานศึกษาหรือแหล่งท่องเที่ยวทั่วไปจะกลายเป็นสถานที่ที่ถูกเลือกเพื่อจัดตั้งร้านอินเตอร์เน็ต
การบริการทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิคส์( E-Commerce ) คือการทำธุรกรรมบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตบริการหาข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ รับส่ง E-mail ติดต่อกันข้ามประเทศ การสนทนา ( Chat ) หาเพื่อน หรือแม้แต่บริการเกม เป็นต้น ดังนั้นคำว่า " ร้านอินเตอร์เน็ต " จึงหมายถึงสถานที่ที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตโดยคิดค่าตอบแทนจากบุคคลที่เข้าใช้อินเตอร์เน็ตตามระยะเวลา และอัตราค่าบริการที่กำหนดไว้ในแต่ละแห่ง
อยากเป็นเจ้าของร้านอินเตอร์เน็ต…ต้องคำนึงถึงเรื่องใด
1. ศักยภาพของผู้ประกอบการ
• เป็นคนที่ทันเหตุการณ์และชอบแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เช่น เจ้าของร้านควรรู้ข่าวสารโปรแกรมใหม่ๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น รวมทั้งควรรู้ข่าวสารเรื่องลิขสิทธิ์โปรแกรมที่จะส่งผลกระทบต่อร้านด้วย
• เป็นคนกว้างขวาง ยิ่งเจ้าของร้านรู้จักคนมากเท่าใด ย่อมเป็นผลดีต่อธุรกิจมากขึ้นเท่านั้นไม่ว่าจากเพื่อนร่วมธุรกิจเดียวกัน จากร้านขายอุปกรณ์ที่ไปซื้อเป็นประจำ และจากกลุ่มลูกค้าเพราะคนเหล่านี้จะคอยบอกความเคลื่อนไหวในวงการเทคโนโลยีและสารสนเทศให้อย่างสม่ำเสมอ
• มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ เพราะผู้ประกอบการจะสามารถเลือกซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพใช้งานได้นานและหากว่า คอมพิวเตอร์เกิดขัดข้องเพียงเล็กน้อย ผู้ประกอบการก็สามารถซ่อมแซมได้เองโดยไม่จำเป็นต้องติดต่อช่าง การมีความรู้ด้านนี้บ้างจึงนับว่าเป็นการประหยัดทั้งเงินและเวลาอีกทั้งเจ้าของร้านยังอาจเป็นผู้ให้คำปรึกษา หรือสอนลูกค้าใช้โปรแกรมต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความประทับใจต่อลูกค้าที่เข้ามารับบริการ
• เป็นคนละเอียดรอบคอบ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องคุมค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด (ในกรณีที่ร้าน มีหุ้นส่วนมากกว่า 1 คน ผู้ร่วมหุ้นควรทำสัญญาร่วมกันให้ชัดเจนจะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง)
• ถ้าผู้ประกอบการเป็นเจ้าของสถานที่เอง ต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องเสียก็จะลดน้อยลง
2. การติดต่อกับหน่วยงานราชการ
โดยทั่วไปแล้ว กฎหมายกำหนดไว้ว่า ธุรกิจด้านบริการไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า( เว้นแต่ว่าภายในร้านจะมีการค้าขายอื่นๆ ด้วย ) แต่ปัจจุบันร้านให้บริการทางอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่มัก จะต้องจดทะเบียนไว้ เนื่องจากร้านมีการประกอบธุรกิจเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่ไปด้วยอีกทั้งใบจดทะเบียน ดังกล่าวยังใช้เป็นหลักฐานแสดงต่อหน้าเจ้าพนักงานของรัฐเมื่อมาตรวจสอบ
นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงคือ การซื้อลิขสิทธิ์โปรแกรมใช้งานทั่วไปและโปรแกรมเกมจากเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งต้องขออนุญาตจากกองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติในกรณีที่ทางร้านให้เช่าแผ่นซีดีเกมคอมพิวเตอร์แก่ลูกค้าซึ่งรายละเอียดการติดต่อในแต่ละด้าน มีดังต่อไปนี้
การจดทะเบียนพาณิชย์
เอกสารที่ต้องเตรียม ( เฉพาะกรณีเจ้าของกิจการคนเดียว )
- บัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง 1 ฉบับ
ขั้นตอนการดำเนินการ
ผู้ประกอบการต้องไปกรอกแบบฟอร์มขอจดทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่เริ่มประกอบกิจการพร้อมกับยื่นเอกสารที่เตรียมไว้ และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนอีก 50 บาท ขั้นตอนนี้จะเสร็จภายในหนึ่งวัน
สำหรับสถานที่ที่สามารถยื่นขอจดทะเบียน ถ้าเป็นในเขตกรุงเทพมหานคร คือ สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 7 แห่ง หรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลข 0-2547-5050 ( กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อ.เมือง จ.นนทบุรี ) ส่วนผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดขอจดทะเบียนได้ที่ สำนักงานทะเบียนการค้าจังหวัดบุคคลที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก
http://www.thairegistration.co...hai/serviceplace/detail4.phtml
การซื้อลิขสิทธิ์โปรแกรมใช้งานทั่วไปจากเจ้าของลิขสิทธิ์
การเปิดร้านอินเตอร์เน็ตถือเป็นอาชีพที่สุจริต แต่ผู้ประกอบการบางรายอาจทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้เพราะความรู้ด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ทำให้ร้านอินเตอร์เน็ตทั่วไปซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยไม่ได้ซื้อ License ( ไลเซ่น ) Licensing คือลิขสิทธิ์โปรแกรม (ซอฟท์แวร์ ) ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ.2537 ประเภทวรรณกรรมการทำซ้ำ ดัดแปลงเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชน ตามกฎหมายร้านอินเตอร์เน็ตจะต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนจึงจะไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
รูปแบบลิขสิทธิ์โปรแกรม
1. โปรแกรมที่มากับเครื่อง ( OEM ) คือโปรแกรมที่ทางผู้ขายติดตั้งมาให้เมื่อคุณซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่พร้อมโปรแกรม ส่วนมากจะเป็นเครื่องที่มียี่ห้อ เช่น COMPAQ , IBM หรือ OEM แบบไม่มีกล่องบรรจุ (ไม่มีแพ็คกิ้ง) ซึ่งขายแยกให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ประกอบเอง ลิขสิทธิ์โปรแกรมที่ได้นั้นมักจะเป็นโปรแกรม ระบบปฏิบัติการ ( Operation System ) เช่น Windows, NT Server, Windows98, Workstation เป็นต้น ผู้ซื้อจะได้รับแผ่นซีดีของทุกโปรแกรมที่ติดตั้งมา ตามหนังสือคู่มือการใช้งาน ใบCertification of Authenticity (ใบรับรองโปรแกรมว่าเป็นของแท้ ซึ่งจะอยู่ตรงหน้าปกหนังสือคู่มือการใช้งาน )
2. ชุดเต็ม (Full Packaged Product) ลิขสิทธิ์ชุดเต็มนี้สามารถซื้อตามร้านค้าปลีกที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของไมโครซอฟท์ เช่น ร้านBookchest, IT-City, ไดโนเสาร์และChallenger สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงคือ 1 licenseต่อคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องเท่านั้น และถ้าต้องการลงโปรแกรมเดียวกัน 3 เครื่องผู้ประกอบการก็ต้องซื้อลิขสิทธิ์ 3 license เป็นต้น
3. OPEN LICENSE คือการซื้อโปรแกรมเดียวกันเป็นชุด เช่น 5 ไลเซ่นขึ้นไป ราคาของโปรแกรมประเภทนี้ จะถูกกว่าแบบ OEM และแบบชุดเต็ม โปรแกรมนี้เหมาะสำหรับร้านอินเตอร์เน็ตที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ให้บริการจำนวนมาก เช่นซื้อโปรแกรม Officeลิขสิทธิ์ 10 ไลเซ่น ลงเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ 10 เครื่อง ( การลงโปรแกรมเป็นแบบ 1 ไลเซ่นต่อ 1 เครื่องเช่นกัน)
การขออนุญาตจากกองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เมื่อผู้ประกอบการซื้อลิขสิทธิ์เกมแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือ การขออนุญาตจากกองทะเบียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ซึ่งกำหนดให้ประเภทซีดีเกมจะต้องได้รับการพิจารณาก่อนนำเผยแพร่ต่อสาธารณชน ดังนั้นร้านอินเตอร์เน็ตที่ให้บริการเกม และร้านเกมซึ่งให้ลูกค้าเช่าแผ่นซีดีเกมคอมพิวเตอร์ ควรดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
เอกสารที่ต้องเตรียม
- ภาพถ่ายร้านจำนวน 3 รูป ประกอบด้วย ภาพถ่ายภายหน้าร้านระยะไกล ระยะใกล้และภายในร้าน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด - สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ชุด
( ในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ได้เป็นเจ้าบ้านต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าบ้านพร้อมสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าบ้าน อย่างละ 1 ชุดและลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง )
- รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว 2 รูป
- ค่าธรรมเนียม 250 บาท
- หนังสือรับรองความประพฤติ ผู้ประกอบการสามารถขอแบบฟอร์มได้ที่กองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติหนังสือดังกล่าวต้องมีลายเซ็นของข้าราชการระดับ4 รับรองความประพฤติให้กับผู้ตั้งร้านรวมทั้งถ่ายสำเนาบัตรประชาชน หรือบัตรข้าราชการของผู้รับรอง พร้อมลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องด้วยในขั้นตอนนี้ผู้เป็นเจ้าของร้านต้องเสียค่าบริการงานเอกสาร 1,000 บาท แต่กรณีที่หาข้าราชการระดับ4 มาเซ็นต์รับรองความประพฤติไม่ได้ เจ้าหน้าที่กองทะเบียนที่รับแบบฟอร์มคำขอ สามารถช่วยได้ โดยคิดค่าธรรมเนียมและค่างานเอกสารเป็นเงิน 1,500 บาท
ขั้นตอนการดำเนินการ
- ยื่นเอกสารต่างๆ พร้อมชำระเงินที่กองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ( หมายเลขโทรศัพท์ 0-2513-0051-5 ต่อ 324 , 326 ) ในวันเวลาราชการ 8.30-16.30 น.
- ทางเจ้าหน้าที่จะออกใบรับคำร้องขออนุญาต ทท.4 จำนวน 1 ฉบับ
- หลังจากนั้นประมาณ 10 วัน ผู้ประกอบการสามารถไปรับใบคำร้องตัวจริงได้ใบอนุญาตดังกล่าวใช้สิทธิ์ได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องภายในร้าน และมีอายุ 6 เดือน ส่วนการต่อใบอนุญาตจะใช้หลักฐานเหมือนเดิมทุกประการ
การขอหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เพื่อยื่นขอชำระภาษี
เอกสารที่ต้องเตรียม
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง 1 ฉบับ
- สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง 1 ฉบับ
ขั้นตอนการดำเนินการ
เมื่อเตรียมเอกสารครบถ้วน และกรอกแบบฟอร์ม ล.ป.10 แล้ว จากนั้น ให้ผู้ขอเสียภาษีนำไปยื่นที่สรรพากรพื้นที่แต่ในกรณีที่อยู่ต่างจังหวัด ผู้ขอเสียภาษีสามารถยื่นได้ที่สรรพากรอำเภอ
การยื่นชำระภาษี
ผู้ที่ต้องชำระภาษี คือผู้ที่มีรายได้ในปีภาษี ( ตั้งแต่ 1 มกราคมถึง 31 ธันวาคม ) เกิน60,000 บาท ให้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ภ.ง.ด. 90 (

ภายในกำหนดเวลาตั้งแต่ 1มกราคมถึง 31มีนาคมของปีถัดไป นอกจากการเสียภาษีประจำปีแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีด้วย (ภ.ง.ด. 94) โดยครั้งที่ 1 ผู้เสียภาษียื่นระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เพื่อประเมินรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนครั้งที่ 2 ผู้เสียภาษียื่นภายในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน เพื่อประเมินรายได้ของเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคมที่ผ่านมาเช่นกัน ผู้เสียภาษีสามารถติดต่อได้ที่สรรพากรเขตหรือสรรพากรเขตสาขา ( ในกรุงเทพ ) ส่วนจังหวัดอื่นๆ ให้ยื่นแบบที่สรรพากรอำเภอหรือสรรพากรอำเภอสาขา ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้จากhttp://www.rd.go.th
การชำระภาษีป้าย
เอกสารที่ต้องเตรียม
- บัตรประจำตัวประชาชน - สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง 1 ฉบับ
- ทะเบียนพาณิชย์ - แบบแปลน ,ขนาดของป้าย ( ถ้ามี ) - ใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย
ขั้นตอนการดำเนินการ
เมื่อเตรียมเอกสารครบถ้วน ให้ผู้ประกอบการยื่นแบบ ภ.ป.1 ที่สำนักงานเขต ( กรณีอยู่ในกรุงเทพ )หรือสำนักงานเทศบาล หรือที่ทำการอ.บ.ต. ( กรณีอยู่ต่างจังหวัด ) ภายใน 15 วันหลังจากติดตั้งป้ายเสร็จจากนั้นเจ้าหน้าที่จะมาตรวจขนาดป้ายและดูแบบอักษรพร้อมคำนวณภาษีที่ต้องชำระ เจ้าของร้านสามารถชำระเงินด้วยตัวเองได้ที่กองการเงิน สำนักการคลัง หรือส่งทางไปรษณีย์ในรูปของธนาณัติ ตั๋วแลกเงิน หรือเช็คภายใน 15 วันหลังจากเจ้าหน้าที่ได้มาตรวจป้ายแล้ว ส่วนการชำระเงิน จะชำระเป็นรายปี คือตั้งแต่เดือนมกราคมแต่ไม่เกินมีนาคมของทุกปี
3. ภาพรวมการตลาด
ธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จากเมื่อ 3-4 ปีก่อน คอมพิวเตอร์และระบบอินเตอร์เน็ตเป็นแค่เครื่องมือสำหรับบางอาชีพเท่านั้น เช่นนักวิชาการ นักวิจัย เป็นต้น แต่ปัจจุบันเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นวิธีที่ใช้สำหรับติดต่อสื่อสารระหว่างกันของคนทุกระดับอายุ อาชีพ การศึกษา ทว่า ผู้ใช้ส่วนหนึ่งจะไม่ลงทุนซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ เนื่องจากการบำรุงรักษาเครื่องมีค่าใช้จ่ายสูง เหตุนี้ สถาน " บริการอินเตอร์เน็ต " จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบรับกับกระแสของชาวต่างชาติ ที่ใช้บริการรับ-ส่งอีเมล์เพื่อติดต่อกลับไปยังประเทศของตน กลุ่มผู้ประกอบการทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส (E-Commerce) และกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งค้นคว้าหาข้อมูล และความบันเทิง
3.1 จากผลการสำรวจกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยของ
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ( NECTEC )
ในปี2543 พบว่า มีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยประมาณ 2.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2542ร้อยละ80 และร้อยละ60 ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมีอายุประมาณ 15-29 ปี ร้อยละ70 ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตกำลังศึกษาอยู่ในช่วงมัธยมปลายและปริญญาตรี
จุดประสงค์ส่วนใหญ่ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต กว่าร้อยละ91.5 ใช้เพื่อติดต่ออีเมล์รองลงมาเป็นการหาข้อมูลประมาณร้อยละ 85.2 แต่จะเน้นข้อมูลด้านความบันเทิงมากกว่าด้านการศึกษาและสิ่งที่วัยรุ่นสนใจ มากเป็นพิเศษคือ การเข้าไปหาเพื่อนคุยทางอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า " Chat " รวมทั้งการเล่นเกมด้วยดังนั้น ก่อนจะเปิดร้าน ผู้ประกอบการควรรู้ว่าลูกค้าเป็นใคร เพื่อที่จะเปิดร้านอินเตอร์เน็ตให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า ทั้งในแง่ความต้องการใช้งาน และบรรยากาศภายในร้าน
3.2 กลุ่มผู้ใช้บริการร้านอินเตอร์เน็ตในขณะนี้ อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
• กลุ่มนักเรียนนักศึกษา จะเข้าร้านอินเตอร์เน็ตเพื่อใช้อีเมล์ การสนทนาหรือChat กับเพื่อน เล่นเว็บบอร์ด ( ตั้ง-ตอบกระทู้ ) พิมพ์รายงาน หาข้อมูลเพื่อการศึกษาและที่กำลังนิยมกันมากในขณะนี้คือ การเล่นเกมออนไลน์
• กลุ่มผู้ใหญ่และวัยทำงาน เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องเข้ามาใช้บริการร้านอินเตอร์เน็ตเมื่ออยู่นอกสำนักงาน และต้องการหาข้อมูลเป็นการเร่งด่วน
• กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ จะใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อติดต่อกลับไปยังประเทศของตน
การเปิดร้านอินเตอร์เน็ตขึ้นมา เพื่อให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มใดก็ตาม ต้องดูถึงความเหมาะสมของ
ทำเลควบคู่กันไปด้วย อาทิ
- ถ้าเป็นการเปิดร้านในย่านธุรกิจ เช่น สีลม สุขุมวิท ผู้ประกอบการอาจไม่จำเป็นต้องลงโปรแกรมเกมต่างๆ เพียงแค่มีโปรแกรม Office, เว็บบราวเซอร์ เช่น Internet Explorer หรือ Netscape Navigator,Outlook Express เพื่อรับ-ส่งอีเมล์ ติดตั้งเครื่อง printer สำหรับจัดพิมพ์รายงาน และscanner เพื่อสแกนรูปภาพตามปกติเท่านั้น เนื่องจากลูกค้ามักเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน วัตถุประสงค์การใช้อินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับงาน ติดต่อธุรกิจทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ต
- ถ้าทำเลอยู่ในย่านแหล่งท่องเที่ยว กลุ่ม ลูกค้าจะเป็นชาวต่างชาติที่เน้นด้านรับ-ส่ง อีเมล์เพื่อติดต่อกลับยังประเทศตน รวมถึงค้นหาข้อมูลบางอย่างด้วย ผู้ประกอบการอาจได้กำไรมากสักหน่อย เพราะการเรียกเก็บค่าชั่วโมงหรือนาทีอยู่ในอัตราที่สูงกว่าคนไทยแต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงความรวดเร็วของระบบอินเตอร์เน็ต ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารูปแบบการใช้บริการทั้งของกลุ่มคนทำงานและชาวต่างชาติค่อนข้างคล้ายคลึงกัน
- หากทำเลที่ตั้งใกล้กับแหล่งชุมชน กลุ่มที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ
นักเรียนนักศึกษา และถ้าผู้ประกอบการคิดจะให้บริการคนกลุ่มนี้ ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญแก่โปรแกรมสำหรับพิมพ์งานทั่วไป เช่น Word , Excel และโปรแกรมที่เป็นที่นิยม อาทิ โปรแกรมประเภท Chat เช่น ICQ ,Net Meeting เป็นต้น รวมถึงโปรแกรมเกมใหม่ๆ เพื่อเป็นการดึงดูดใจลูกค้า
- แต่ถ้าเปิดร้านในย่านที่ไม่สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายตายตัวได้ เช่นใกล้กับห้างสรรพสินค้า หอพัก อพาร์ทเม้นท์ ผู้ประกอบการก็ควรให้บริการลูกค้าหลายกลุ่มหลายรูปแบบ ทั้งอินเตอร์เน็ตและเกม
แม้ว่าผู้ประกอบการจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายคร่าวๆได้จากทำเล แต่ปัจจุบันร้านอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่จะเน้นการให้บริการเกมเป็นหลัก ถึงขนาดเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นร้านเกมโดยเฉพาะ เพื่อเจาะกลุ่มเด็กชั้นประถมถึงมัธยมที่มักชวนกันมาเล่นเป็นกลุ่มทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เข้าร้านเป็นกอบเป็นกำ ทั้งๆที่การให้บริการเกมเพียงอย่างเดียว ผู้ประกอบการต้องคอยแสวงหาโปรแกรมเกมใหม่ๆ การซื้อลิขสิทธิ์จากบริษัทที่ผลิตเกม และยังต้องขออนุญาตกองทะเบียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติรวมถึงการเสียค่าใช้จ่ายในการอัพเกรดฮาร์ดแวร์ อยู่ตลอดเพื่อให้เครื่องมีความเร็วและความแรง ดังนั้น ผู้ประกอบการที่คิดจะเปิดร้านอินเตอร์เน็ตเพื่อบริการเกมเท่านั้น ควรประเมินความคุ้มค่าที่ได้รับก่อน
3.3 ธุรกิจหลักของร้านให้บริการอินเตอร์เน็ต
คือ การให้บริการประเภทต่างๆผ่านระบบอินเตอร์เน็ต อันได้แก่ บริการท่องเว็บไซต์ค้นหาข้อมูล บริการรับส่งอีเมล์ บริการส่งข้อความโต้ตอบกันรวมถึงบริการด้านงานพิมพ์เอกสารและบริการการเกม
ส่วนธุรกิจเสริมที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้ควบคู่ไปกับการทำร้านอินเตอร์เน็ต คือ
- การบริการอาหารและเครื่องดื่มภายในร้าน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า
- การเปิดสอนคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กนักเรียน หรือบุคคลทั่วไป
- บริการรับพิมพ์งาน สำหรับนิสิตนักศึกษาที่ไม่มีเวลาพิมพ์รายงานเอง ธุรกิจเสริมตัวนี้สามารถทำเงินให้แก่ร้านได้ไม่น้อย
- บริการเคลือบบัตร ถ่ายเอกสาร
- ในกรณีที่ร้านมีบริการเกม ผู้ประกอบการอาจให้ลูกค้าเช่าซีดีเกม หนังสือวิธีการเล่นเกม ด้วยอัตราค่าเช่าที่ไม่แพง
- รับซ่อม อัพเกรดเครื่องคอมพิวเตอร์และให้คำปรึกษาแนะนำแก่ลูกค้าเมื่อมีปัญหา
3.4. ส่วนผสมทางการตลาด
โปรแกรมคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต
คอมพิวเตอร์ในร้านควรมีโปรแกรมต่างๆ เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า เช่นโปรแกรมออฟฟิศ บราวเซอร์ ไอซีคิว อีเมล์และโปรแกรมเกมใหม่ๆ รวมถึงอินเตอร์เน็ตควรมีความเร็วพอสมควร ซึ่งขึ้นอยู่กับ ISP ที่เลือกใช้ การติดตั้งโมเด็มและสายโทรศัพท์ ที่มีจำนวนเหมาะสมกับการใช้งาน และจำนวนของเครื่องคอมพิวเตอร์
ด้านราคา
ผู้ประกอบการต้องดูความสมเหตุสมผลในการกำหนดราคา กล่าวคือ ผู้ประกอบการต้องดูต้นทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมด เช่น ราคารายชั่วโมงที่ร้านอินเตอร์เน็ตซื้อกับบริษัท ISP ไม่ว่าจะเป็นบริษัท LOXINFO , KSC , A-Net , Samart Infonet , อินโฟนิวส์ เป็นต้น ราคาค่าชั่วโมงจะตกอยู่ราวชั่วโมงละ15 บาท หรืออาจซื้อในรูปแบบของแพคเกจต่อเดือนเมื่อมาคิดเป็นรายชั่วโมง ราคาจะถูกกว่าราวชั่วโมงละ 6-8 บาท และเนื่องจากระบบของร้านบริการทางอินเตอร์เน็ตทั่วไป มักใช้แบบเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ( Internet Sharing ) คือแทนที่คอมพิวเตอร์ทุกตัวจะต้องมีโมเด็ม มีหมายเลขโทรศัพท์และมีaccountทุกเครื่องผู้ประกอบการสามารถยุบรวมโมเด็ม หมายเลขโทรศัพท์และaccount ให้เหลือเพียงอย่างละชุดได้ ดังนั้นถ้าใช้เพียง 1 account ( เลขทะเบียนการใช้อินเตอร์เน็ต )ในการเชื่อมต่อกับ ISP ผู้ประกอบการก็สามารถให้บริการลูกค้าได้หลายเครื่องในเวลาเดียวกัน เช่น ถ้ามีคอมพิวเตอร์ที่เปิดให้บริการ 15 เครื่อง และมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเต็มทุกเครื่อง ต้นทุนต่อเครื่องจะเหลือแค่ 1 บาท ผู้ประกอบการจะได้กำไรประมาณ 14 บาทต่อเครื่องต่อชั่วโมง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องไม่ลืมหักค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนอุปกรณ์ชุดพ่วงอินเตอร์เน็ตราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ ค่าลิขสิทธิ์รวมถึงค่าบำรุงรักษา อีกทั้งค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องดูถึงการกำหนดราคาตามตลาดของร้านที่เปิดในบริเวณใกล้เคียงกัน หรือราคามาตรฐานของร้านอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ การคิดค่าเวลาของร้านอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันมีตั้งแต่ชั่วโมงละ15 บาท 20 บาท 25 บาทขึ้นไป หรือคิดซอยเป็นนาที เช่น 15 นาทีคิด 5 บาท ครึ่งชั่วโมงคิด 10 บาท สำหรับลูกค้าที่ต้องการใช้อินเตอร์เน็ตเพียงแค่เช็คเมล์ หรือพิมพ์งานเล็กๆน้อยๆ